รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนต่อการขับเคลื่อนนโยบายก้าวสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโครงการ TSU-SDGs for Sustainability เปิดพื้นที่การเรียนรู้มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ณ หอประชุมปาริชาต มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย สามารถเชื่อมโยงการดำเนินงานของส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา วิจัย บริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมถึงได้แสดงบทบาทในการมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชนและสังคมโลก การประกาศเจตนารมณ์ เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่จะดำเนินการตามแผนและสอดคล้องกับ SDGs เพื่อบรรลุเป้าหมาย ในหลากหลายมิติ สามารถนำไปปรับประยุกต์ให้เข้ากับบริบทงานของมหาวิทยาลัย ทั้งหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก อีกทั้ง SDGs จะเป็นกรอบแนวคิดที่จะช่วยกำหนดทิศทางการทำงานได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร. สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทุกส่วนงานของมหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมผลักดันและเลือก SDGs หลัก และ SDGs ตามอัตลักษณ์และศักยภาพของส่วนงาน เพื่อวางแผนการดำเนินงานของส่วนงานให้สอดคล้องร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ SDGs ในบริบทของสหประชาติ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากการขับเคลื่อน SDGs ในต่างพื้นที่กับหน่วยงานเอกชน อันจะทำให้เห็นมิติที่หลากหลายในการขับเคลื่อน SDGs ทั้งระบบ การจัดโครงการ TSU-SDGs for Sustainability เป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัย โดยมีผู้บริหารและตัวแทนบุคลากรทุกส่วนงานเข้าร่วม
ภายในงาน มีการบรรยาย หัวข้อ "SDG Acceleration in Thailand and UN Partnerships in Greening Higher Education" โดย คุณมาริสา ปัณยาชีวะ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา สหประชาชาติ และ Ms. Young-Ran Hur, Programme Management Officer for Global Opportunities for SDGs (GO4SDGs) UN Environment Programme (UNEP)
การบรรยายในหัวข้อ "การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จังหวัดน่าน" โดย คุณพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และการบรรยายในหัวข้อ "การขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมหาวิทยาลัยทักษิณ" โดย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร. สมัคร แก้วสุกแสง และรองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ
นอกจากนี้ ยังได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานการดำเนินงานตาม SDGs ของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย จำนวน 11 ส่วนงาน และสิ่งสำคัญของงานนี้ คือ การลงนามประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ รวม 36 ส่วนงาน ดังนี้ ส่วนงานวิชาการ 15 ส่วนงาน ส่วนงานอื่น 7 ส่วนงาน และส่วนงานบริหาร 14 ส่วนงาน
กว่า 1 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยทักษิณมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานตามวิสัยทัศน์และพันธกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ ผ่านโครงการมากมาย และกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ครอบคลุมทั้ง 17 เป้าหมาย ได้แก่
- มิติด้านการพัฒนาคน (People) ประกอบด้วย SDG 1 ขจัดความยากจน SDG 2 ขจัดความหิวโหย SDG 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG 4 การศึกษาที่เท่าเทียม และ SDG ความเท่าเทียมกันทางเพศ อาทิ
- โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ขยายผลเป็น 3 โมเดลแก้จน ได้แก่ ชัยบุรีโมเดล : ธุรกิจเกื้อกูล ไข่ไก่อารมณ์ดีแฮปปี้ฟาร์ม ,Lenoi Craftโมเดล และศรีนาคาโมเดล : สานพลังสร้างเครือข่ายแก้จน
- โครงการ TSU Care รถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมใช้
- ส่งหน่วยแพทย์แพทย์แผนไทย ตรวจรักษาประชาชน
- เปิด 37 รายวิชาออนไลน์ ให้เรียนฟรี ผ่านแพล็ตฟอร์ม TSU - GE for All
- Double degree แห่งแรกในภาคใต้
- มิติด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) ประกอบด้วย SDG 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ SDG 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ และ SDG 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน อาทิ
- Solar Rooftop หลังคาผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด
- เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน
- คว้ารางวัลจากการประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมไทย จากเวทีระดับนานาชาติ "The 49th International Exhibition of Inventions Geneva"
- มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) ประกอบด้วย SDG 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล SDG 12แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน SDG 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDG 14 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางน้ำ และ SDG 15การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก อาทิ
- จัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ผลิตประปาสะอาด
- ส่งเสริมจุดบริการน้ำดื่ม ฟรี มากกว่า 200 ตู้ ครอบคลุมทั้ง 2 วิทยาเขต
- The University in the park แหล่งศึกษาเรียนรู้ใจกลางเมืองที่เป็น "ปอด" ของคนเมืองสงขลา
- มิติด้านสันติภาพและความยุติธรรม (Peace) ประกอบด้วย SDG 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก
- ขับเคลื่อนนโยบาย No Gift Policy
- มิติด้านความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ประกอบด้วย SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ
- ผนึกพลังความร่วมมือทั้งผู้บริหาร บุคลากร นิสิต และผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่เกื้อหนุนต่อการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ TSU GO GREEN
- กิจกรรม "สร้างบ้านปลา พิทักษ์ รักษา ปลาสามน้ำ" ร่วมกับเครือข่ายสร้างซั้งบ้านปลามีชีวิต
เชื่อว่าทุกคน ทุกองค์กรต่างมีภาพฝันของโลกที่สมบูรณ์แบบ แต่การจะเปลี่ยนภาพฝันให้เป็นความจริง คือ การตั้งเป้าหมายและลงมือทำ วันนี้มหาวิทยาลัยทักษิณได้เริ่มออกเดินทางไปยังเป้าหมายที่วางไว้เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ที่ตั้งใจจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองเล็กๆ ในการร่วมกันขับเคลื่อนและสร้างสังคมให้ยั่งยืน เพื่อโลก เพื่อลูกหลาน และเพื่อเรา SDGs จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมของทุกคน
ที่มา: double D media