นายปฏิญญา อมรรัตนานนท์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S - Curve) ซึ่งต้องการกำลังคนที่มีความรู้และทักษะเฉพาะทางเพื่อรองรับกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก นับว่ากำลังคนที่มีทักษะตรงตามความต้องการของตลาดนั้นยังคงมีจำนวนน้อยมาก โดยเฉพาะวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่มีความรู้ทั้งด้านระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลสมัยใหม่ การต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการเดิม ตลอดจนดูแลรักษาผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลสมัยใหม่ให้ทันต่อความต้องการและทันต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว
"เออาร์วี (ARV) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของไทย มองหาแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคนดังกล่าว และเพื่อให้เกิดการพัฒนาวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาแล้วต่อยอดในกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงได้ร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการจัดทำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (Bachelor of Engineering in Computer Engineering and Digital Technology) ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรม และแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกในการร่วมกันพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมระหว่างสถานประกอบการและสถาบันการศึกษา ตลอดจนนำไปสู่การสร้างการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีด้าน AI และ Robotics ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากจากหลาย ๆ ภาคส่วน"
นอกจากนี้ หลักสูตรที่จัดทำขึ้นจะทำให้นิสิตเห็นความเชื่อมโยงระหว่างความรู้และทักษะการเรียนรู้ในห้องเรียนกับการทำงานจริงในสถานประกอบการ พร้อมเกิดทัศนคติการทำงานและมีการพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นระบบไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะส่งผลต่อแรงบันดาลใจของนิสิตนักศึกษาในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว และสามารถลดปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลในระดับประเทศได้ต่อไปได้ โดยตลอดโครงการเออาร์วีจะจัดหาบุคลากรมาเป็นกรรมการเพื่อร่วมประเมินโครงงานตามกำหนดในหลักสูตร พร้อมช่วยเหลือสนับสนุนการหาหัวข้อโครงงานและจัดหาบุคลากรของบริษัทมาเป็นที่ปรึกษาร่วมเพื่อพัฒนาเป็นโครงงานรวบยอดให้กับนิสิต พร้อมทั้งจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นในการพัฒนาโครงงานให้สำเร็จลุล่วง
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางคณะฯ จะจัดทำรายละเอียดวิชาและเนื้อหาหลักสูตร ภายใต้กรอบการดำเนินการที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) กำหนด โดยจะใช้โจทย์โครงงานจากปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม อีกทั้งมีการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนที่มุ่งสร้างทักษะความชำนาญ และมีการประเมินร่วมกับสถานประกอบการ โดยนิสิตสามารถนำทักษะความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการฝึกงานสหกิจศึกษาประจำปี และสุดท้ายนำผลตอบกลับจากสถานประกอบการมาปรับใช้กับหลักสูตรในปีต่อไปทันที
"ทางคณะฯและมหาวิทยาลัยคาดหวังว่า การผสานโครงสร้างการศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ และความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และการเทคโนโลยีดิจิทัลในครั้งนี้ จะทำให้นิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ และพัฒนาทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลได้เป็นอย่างดี พร้อมเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนจะทำให้นิสิตที่จบจากโครงการนี้มีความพร้อมทั้งทัศนคติและทักษะในการทำงานในสถานการณ์จริง และช่วยเสริมสร้างกำลังคนของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมได้เป็นจำนวนมาก" ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดหรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://arv.co.th/ เพจเฟซบุ๊ก AI and Robotics Ventures (https://www.facebook.com/arv.th) หรือโทร. 02 078 4000
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์