ขณะเดียวกันยังมีเนื้องานปักไม้ไผ่ ซึ่งพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรปราการ ความยาวข้างละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 2 กิโลเมตร เพื่อลดความเร็วและความแรงของกระแสน้ำที่อาจสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ข้างเคียง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ปัจจุบัน กทม. อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานครจากสภา กทม. เนื่องจาก สนน. ได้รับงบประมาณตามข้อบัญญัติว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 แต่ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนในสัดส่วนของงบประมาณรัฐบาล คาดว่า ในปี 2567 จะสามารถดำเนินตามแผนการก่อสร้างได้ หลังจากได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม. แล้ว
นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือระหว่าง สนน. สำนักงานเขตบางขุนเทียน ภาครัฐ เอกชน และประชาชน จัดกิจกรรม "เพาะพันธุ์รักษ์ป่าชายเลนบางขุนเทียน" เพื่อปลูกต้นโกงกางในท่อซีเมนต์ ใช้ช่วยชะลอคลื่น หรือช่วยลดความแรงของคลื่นทะเลได้ ทั้งนี้ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่งก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์สามารถพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของ กทม. ต่อไป
นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม. กล่าวว่า การดำเนินงานปลูกป่าชายเลนเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 - 2567 โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีการปักไม้ไผ่ทำแนวชะลอคลื่นหน้าทะเลระยะทาง 2,200 เมตร ทำแปลงปลูกป่าชายเลน 12 แปลง ปลูกต้นกล้า 107,000 ต้น ปัจจุบันเพิ่มพื้นที่ได้ 233 ไร่ อย่างไรก็ตาม แปลงปลูกหน้าทะเลประสบปัญหาความแรงของคลื่นลมทะเล จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก โดยใช้การปลูกในท่อชีเมนต์ ขนาดสูง 2 เมตร ปากกว้าง 6 นิ้ว เพื่อยกระดับให้ต้นกล้าพ้นน้ำทะเล เลียนแบบการปลูกบนดินตามธรรมชาติ มีหน่วยงานให้การสนับสนุนท่อซีเมนต์ 90 หน่วยงาน รวม 27,139 ท่อ
ทั้งนี้ ในปี 2567 ได้กำหนดเป้าหมายบำรุงรักษาต้นกล้าโกงกางให้เจริญเติบโต เพื่อคงพื้นที่ให้ได้ 233 ไร่ เพาะพันธุ์ต้นกล้าสำหรับซ่อมแซมและปลูกเสริมอย่างน้อย 70,000 ต้น และพัฒนานวัตกรรมกระบอกไม้ไผ่ 3R โดยนำขยะไม้ไผ่มาแปรรูป เพื่อใช้ประโยชน์ ลดปัญหาขยะไม้ไผ่ตกค้างแนวชายฝั่ง ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่ โดยสร้างศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนบางขุนเทียน รวมถึงเพิ่มสวนทะเล 15 นาที และร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กทม. พัฒนาเพิ่มความสวยงามด้วยการทาสีสะพานเส้นทางเยี่ยมชมระบบนิเวศน์ป่าชายเลนบางขุนเทียนระยะทาง 4.7 กิโลเมตร ซึ่งในปี 2567 มีประชาชนมาท่องเที่ยวเยี่ยมชมแล้วประมาณ 32,000 คน
ที่มา: กรุงเทพมหานคร