ทั้งนี้ กทม. ได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้แก่ สนท. และสำนักงานเขตในการจัดระเบียบทางเท้าและการทำการค้าหาบเร่แผงลอย โดยเน้นความสะดวกสบายและปลอดภัยในการสัญจรของประชาชนเป็นสำคัญ โดยจุดพื้นที่ทำการค้า หรือจุดผ่อนผัน จะต้องกวดขันให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ กทม. อย่างเคร่งครัด จุดใดที่สร้างปัญหาและไม่สามารถปรับแก้ไขได้ จะต้องยกเลิก เพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชนสัญจร ส่วนนอกจุดทำการค้า หรือนอกจุดผ่อนผัน เป็นการทำการค้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้สำนักงานเขตบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยระหว่างที่ดำเนินการให้ยึดแนวทางตามหลักเกณฑ์ของ กทม. ปี 2563 มาปรับใช้โดยอนุโลม ตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วน จากการจัดทำทะเบียนเมื่อปี 2565 พบว่า มีจำนวน 726 จุด ผู้ค้า 15,858 ราย ซึ่งได้บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ผลักดันให้ผู้ค้าเข้าไปขายในที่เอกชน Hawker Center และคืนพื้นที่ทางเท้าให้ประชาชนได้สัญจรอย่างสะดวก ปลอดภัย ปัจจุบันคงเหลือจุดทำการค้านอกจุด จำนวน 440 จุด ผู้ค้า 11,834 ราย นอกจากนั้น ได้จัดหาพื้นที่เอกชน รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำเป็นศูนย์อาหาร (Hawker Center) รองรับผู้ค้า พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่กวดขัน ตรวจตราพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
นายกรณิศ บัวจันทร์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบบริเวณซอยราชปรารภ 6 พร้อมปรับพินัยผู้ทำการค้าและตั้งวางบนผิวการจราจร ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ผลักดันผู้ค้าที่ทำการค้าบนผิวการจราจรให้เคลื่อนย้ายสินค้า หรืออุปกรณ์ให้พ้นผิวการจราจรและพื้นที่สาธารณะต่อไป นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) พญาไท และสำนักการจราจรและขนส่ง เพื่อร่วมประชุมหารือแก้ไขปัญหา อำนวยความสะดวก เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้สัญจร และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในบริเวณดังกล่าว
ที่มา: กรุงเทพมหานคร