นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติงบการเงินสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุดไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ มี รายได้รวม 344.5 ล้านบาท ลดลง 17.0% จาก 415.0 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 31.2 ล้านบาท ลดลง 174.1% จาก 42.1 ล้านบาท ณ ไตรมาส 1 เนื่องจากทางบริษัทมีนโยบายเร่งตัดหนี้สูญมากกว่าปกติ ในกลุ่มลูกหนี้ที่เปราะบาง สูงถึง 154.6 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อในประเทศและต่างประเทศมีสัดส่วน 57 : 43 รวมมูลค่าพอร์ตเช่าซื้อรวม 3,168.6 ล้านบาท ลดลง 13.4% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของตลาดในประเทศเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ประกอบกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2566 สูงถึง 91% ต่อจีดีพี มูลค่ากว่า 16.3 ล้านล้านบาท (จากการศึกษาทั่วโลก สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไม่ควรเกิน 80% ต่อจีดีพี) อย่างไรก็ดี กิจการต่างประเทศในกัมพูชาและ สปป. ลาว ลูกหนี้รวมในไตรมาสแรกมีมูลค่า 1,220 ล้านบาท เติบโต 1.4% จาก 1,203 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2566
"ในไตรมาสแรกของปี ภาพรวมของพอร์ตเช่าซื้อในประเทศปีนี้ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพอร์ตเช่าซื้อของ TK ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากการที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศเรื่อง ให้ ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมฯ พร้อมกำหนดเพดานดอกเบี้ย ซึ่งทั้งอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบตั้งแต่ก่อนมีผลบังคับเมื่อ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่สูงเกิน 80% ของจีดีพี ต่อเนื่องมาหลายปี และ ณ ไตรมาส 4 ปี 2566 สูงถึง 91% ของจีดีพี ส่งผลโดยตรงกับการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ต่าง ๆ รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ขณะค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นจากหลายปัจจัย อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อมากว่า 50 ปี บริษัทฯ ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยเน้นคุณภาพลูกหนี้ บริหารต้นทุนโดยรวม และไม่พยายามขยายในสถานการณ์มีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยเหนือการควบคุม เน้นกลยุทธ์เติบโตในระยะกลางและระยะยาว ทำให้ TK สามารถก้าวผ่านมาถึงปัจจุบัน" นางสาวปฐมา กล่าว
ทางด้าน นายประพล พรประภา กรรมการและรองผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ในปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.6% จาก 1.9% ในปี 2566 ในขณะที่ยอดส่งออกมีนาคมปีนี้หดตัว 10.9% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่กรกฎาคม 2566 ส่งผลให้ไตรมาสแรกปี 2567 ยอดการส่งออกหดตัว 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อรายได้ของแรงงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว แต่ยังคงเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน เช่น ภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ราคาพลังงานที่ยังคงสูงขึ้น ปัญหาความขัดแย้งที่นำไปสู่การสู้รบที่ยืดเยื้อ เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. อยู่ที่ 2.50% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี นับจากตุลาคม 2556 ผลจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว บริษัทฯ จึงยังคงต้องระมัดระวังในนโยบายการขยายธุรกิจในประเทศ รวมถึงยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อต่อไป
ด้านตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย มียอดจำหน่ายใน ไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 454,796 คัน ลดลง 11.2% จาก 512,210 คัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยยอดขายรถจักรยานยนต์รายเดือนลดลงต่อเนื่อง 5 เดือนนับตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์ ไตรมาส 1 ปี 2567 มีจำนวน 163,756 คัน ลดลง 24.6% จาก 217,073 คัน โดยยอดจำหน่ายรถยนต์รายเดือนลดลงต่อเนื่อง 10 เดือน นับตั้งแต่กรกฎคม 2566 ทั้งนี้ จากยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์และรถยนต์ที่ลดลง พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถรับการอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจาก Reject Rate สูงขึ้นมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถซื้อทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ได้
"ในสภาวะหนี้ครัวเรือนของประเทศสูง TK เห็นความสำคัญของการตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าลูกหนี้การค้าที่เพียงพอ ณ ไตรมาส 1 ปี 2567 มีสำรองจำนวน 278.8 ล้านบาท มีลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน 5.8% และมี Coverage Ratio ที่ 140.2% ซึ่งเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2566 ที่มีสำรองลูกหนี้ จำนวน 368 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน 8% และมี Coverage Ratio ที่ 113.6% นอกจากนี้ เราได้ปรับการดำเนินงานและเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดต้นทุนทางด้าน Credit cost หรือหนี้เสีย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังคงมองหาโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากธุรกิจเช่าซื้อ ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ "TK ME" บริการทางเลือกใหม่ให้ใช้รถจักรยานยนต์แบบจ่ายรายสัปดาห์หรือรายเดือน เน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงเพิ่มบริการสำหรับสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ในอนาคต นอกจากการขยายธุรกิจเช่าซื้อในต่างประเทศ ทั้งนี้ ณ ไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ มีเงินสด 2,495.6 ล้านบาท สำหรับใช้ขยายบริการทันทีที่เห็นช่องทาง" นายประพลกล่าว
ที่มา: แอบโซลูท พีอาร์