ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ตนและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้เดินทางไปยัง มทร.ล้านนา ซึ่งมีทั้งหมด 6 วิทยาเขต ได้แก่ เขตพื้นที่ภาคพายัพ เขตพื้นที่เชียงราย เขตพื้นที่ตาก เขตพื้นที่น่าน เขตพื้นที่ลำปาง และเขตพื้นที่พิษณุโลก เพื่อมอบนโยบายและวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย ในการเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน ที่เป็นตามบริบทชุมชนของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป อย่าง พื้นที่เชียงราย จะมีสาขาด้านโลจิสติกส์ ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน การจัดการเรียนการสอนเชิงวิทยาศาสตร์ และมีนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาชุมชน หรือ พื้นที่น่าน จะมีความเชี่ยวชาญเรื่องของการเกษตร ความหลากหลายของพืชสมุนไพร สารสกัด การเรียนแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนไทย ซึ่งต้องมีการนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดพัฒนาชุมชน เป็นต้น
"แต่ละวิทยาเขตมีจุดเด่น ความเชี่ยวชาญ ความถนัดที่แตกต่างกันออกไปตามบริบทของพื้นที่และชุมชน ซึ่งการที่คณะผู้บริหารได้เดินทางไปยังทุกวิทยาเขต ปีละ 2 ครั้ง และปีนี้ผมตั้งใจจะไปยังวิทยาเขตต่างๆ ให้ได้อย่างน้อย 4 ครั้ง เพื่อทำความเข้าใจ และร่วมพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนานักศึกษาให้มีองค์ความรู้ มีทักษะ มีความชำนาญ พร้อมออกไปทำงานได้ทันที เน้นการเรียนรู้แบบปฎิบัติจริง และต้องมีการช่วยเหลือแก้โจทย์หรือปัญหาที่ชุมชนพบเจอ อีกทั้งเป็นการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของแต่ละวิทยาเขต เพราะหากวิทยาเขตไหนต้องการความช่วยเหลืออย่างไร หรือจะทำเรื่องอะไรก็จะมีวิทยาเขตอื่นๆ คอยช่วยเหลือ ไม่ได้ทำเพียงลำพัง" ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าวและว่า การลงไปในแต่ละวิทยาเขต สิ่งแรกที่ให้ความสำคัญ คือ การจัดการศึกษาให้ครอบคลุมทั้ง 6 เขตพื้นที่ภาคเหนือ ต้องการให้แต่ละวิทยาเขตผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ของตลาดแรงงาน รวมถึงการพัฒนาวิจัย นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ ชุมชน และสังคม ดังนั้น ผู้บริหารต้องสร้างความเข้าใจแก่คณาจารย์ และบุคลากรในแต่ละวิทยาเขต จัดการศึกษาและสร้างงานวิจัย นวัตกรรมเพื่อช่วยคุณภาพชีวิตชุมชน สังคมให้อยู่ดีกินดี ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้โดดเด่น ทำให้ทุกคนเห็นไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกันของมหาวิทยาลัย
"มทร.ล้านนา มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์และการเกษตร ซึ่งผู้บริหารต้องมีความตั้งใจ ที่จะส่งเสริม ต่อยอด การพัฒนางานวิชาการ ด้วยการสร้างงานทางการศึกษาผ่านการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ของคนในพื้นที่ โดยมุ่งใช้ความเข้มแข็งของทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์" ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าว
ที่มา: แมวกวัก