ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัญหาการรุกรานของปลาหมอคางดำเป็นปัญหาที่สำคัญ กระทรวงเกษตรฯ ภายใต้การนำของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดประชากรปลาหมอคางดำทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยการควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่พบมีการรุกรานแล้ว และป้องกันไม่ให้ปลาหมอคางดำไปรุกรานในพื้นที่อื่น
กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสงคราม และสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี ได้จัดการรณรงค์การทำน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง (สูตรไนโตรเจนสูง) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยนำนวัตกรรมจากผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในการร่วมแก้ไขปัญหา โดยการนำปลาหมอคางดำที่มีจำนวนมากมาเป็นวัสดุสำคัญ เพื่อใช้ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพผสมกับผลิตภัณฑ์สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ซึ่งน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำมีธาตุอาหารที่สำคัญ กรดอินทรีย์ และฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยวิธีการใช้เพียงแค่นำน้ำหมักชีวภาพจากปลา 1 ลิตร ผสมกับน้ำ 100-150 ลิตร ฉีดพ่นกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกรได้
โฆษกกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการติดตามและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเอาจริงเอาจังและต่อเนื่อง โดยกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ได้ผลิตน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูงจากปลาหมอคางดำจำนวน 300 กิโลกรัม ซึ่งสามารถผลิตน้ำหมักได้ 5 ถัง (ถังจำนวน 200 ลิตร ประกอบด้วย น้ำ 80 ลิตร สับปะรด 20 กิโลกรัม ปลา 60 กิโลกรัม กากน้ำตาล 20 กิโลกรัม และสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 2 ซอง) โดยรับปลามาจากสำนักงานประมงสมุทรสาคร (ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2567) เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ช่วยในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่และกระทรวงเกษตรฯ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและลดจำนวนปลาหมอคางดำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ที่มา: กรมพัฒนาที่ดิน