นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. มีภารกิจเป็นหน่วยงานกลางด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยกำหนด ตรวจสอบรับรอง ควบคุม และส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค ตลอดจนการเจรจาแก้ไขปัญหาทางการค้าเชิงเทคนิค เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งเพื่อให้มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดย มกอช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการเกษตร ทั้งในด้านเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย และการพัฒนาระบบนิเวศเกษตร รวมถึงการบูรณาการงานด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเกษตรและอาหาร "3S" (Safety, Security & Sustainability) BCG โมเดล และนโยบายรัฐบาล "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้"
ที่ผ่านมา มกอช. ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการสื่อสารด้านความปลอดภัยอาหาร และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงขยายช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรในรูปแบบออนไลน์ โดยได้พัฒนาระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัยภายใต้ตราสัญลักษณ์ Q ให้กับผู้บริโภคทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตร และการจำหน่ายสินค้าเกษตรในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงประชาสัมพันธ์ระบบ QR Trace on Cloud และเว็บไซต์ DGTFarm ให้เป็นที่รู้จักและเกิดการนำไปใช้งาน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรมาตรฐานแก่ผู้บริโภค มกอช. โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทส.) ได้จัดการสัมมนาสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรมาตรฐานด้วยระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จากเกษตรจังหวัด สหกรณ์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ประมงจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และสภาเกษตรกรจังหวัด ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ และสุโขทัย
การสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความรู้ความชำนาญจากภาครัฐและภาคเอกชนมาให้ความรู้ ได้แก่ 1.มาตรฐานการตามสอบสินค้าเกษตรและมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย ปลอดภัยทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิต 2.การกำกับดูแลสินค้าเกษตรและเครื่องหมายรับรอง 3.การสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรด้วยระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) 4.ความสำเร็จของการใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) 5.เคล็ดลับสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรด้วยบรรจุ 6.เทคนิคการขายออนไลน์ให้สบายใจ ปลอดภัยแน่นอน และ 7.การตลาดออนไลน์ยุคใหม่เพื่อเกษตรกรไทย
"อย่างไรก็ดี หวังว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในการเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย และผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับสินค้าเกษตร รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและการจำหน่ายสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรอย่างมั่นคงและยั่งยืน"เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ที่มา: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ