เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางสาวศุภมาส อิศระภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีประกาศความร่วมมือระหว่าง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BKGI เพื่อแสดงเจตจำนงความร่วมมือด้านนวัตกรรมที่ใช้ในการคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย ผ่านการนำตรวจ Trimethylamine N-oxide (TMAO) ในเลือด ในการประชุมนานาชาติด้านจีโนมิกส์ ครั้งที่ 19 (ICG-19)
ดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อนำการตรวจ TMAO ในเลือดมาใช้ในระบบสาธารณสุขไทย เพื่อคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนที่จะเกิดอาการ ทำให้สามารถให้การดูแลเชิงป้องกันที่เหมาะสมและเฉพาะบุคคลสำหรับผู้ที่ได้รับการระบุว่ามีความเสี่ยงสูงจากการตรวจ TMAO ซึ่งจะช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของคนไทยในเชิงป้องกันและลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะที่รุนแรงได้
ดร.เสาวลักษณ์ กล่าวต่อว่า "BKGI ได้สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมหลายอย่างกับ BIOTEC โดยเราทั้งสองสถาบันมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม การตรวจ TMAO ในเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ จะเป็นเป้าหมายแรกที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในการดูแลสุขภาพของคนไทยในเชิงป้องกัน ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของแนวคิด Future hospital หรือการดูแลสุขภาพแบบแม่นยำตั้งแต่ก่อนเกิดอาการ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งในระดับบุคคลและระบบสาธารณสุขของประเทศ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศไทย และความมุ่งมั่นของทั้งสองหน่วยงานที่จะร่วมมือกันต่อไป"
ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่นภาวะหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวประมาณ 70,000 รายต่อปี โรคหลอดเลือดสมองมีผู้ป่วยกว่า 3.49 แสนราย เสียชีวิตกว่า 36,214 รายในปี 2566 คิดประเมินเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกว่า 120,306 บาทต่อการนอนโรงพยาบาลหนึ่งครั้ง คำนวณได้เป็นค่าใช้จ่ายของภาครัฐไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี โดยค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมถึงค่าเสียโอกาสและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการดูแลประคับประคอง
ที่มา: Six Degrees Communication