คำถามที่ท้าทายนี้ ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำเสนอคำตอบที่น่าสนใจในการบรรยายพิเศษเรื่อง "เมื่อเอไอครองโลก มนุษย์จะอยู่อย่างไร" เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุม CSII Digital Auditorium ชั้น 3 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) จัดโดยสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับราชบัณฑิตยสภา ในโครงการราชบัณฑิตยสภานำความรู้สู่สังคม โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา เป็นผู้กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงาน
ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้เฝ้าติดตามเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่างใกล้ชิด ได้แบ่งปันความรู้พื้นฐานและข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของ AI ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งแนวโน้มที่กำลังจะเกิดในอนาคตอันใกลนี้ จากนี้ไปเราจะต้องอยู่กับ AI ตลอดเวลา ประชาชนต้องใช้ AI ให้เป็น และเข้าใจในประโยชน์และโทษของ AI
"ในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า AI จะมีความฉลาดมากกว่ามนุษย์ สามารถทำทุกอย่างที่มนุษย์ทำได้ AI ในรูปของหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ในลักษณะงานที่ต้องทำซ้ำ สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมงโดยไม่บ่น ไม่มีอารมณ์ ทำได้ตลอดเวลา ทำให้ผลผลิตต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปมนุษย์ก็ไม่ต้องทำงาน สามารถใช้ชีวิตอิสระมากขึ้น ไม่ต้องอยู่ในที่ทำงานแคบๆ อีกต่อไป" ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กล่าว
ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบัน AI ยังถูกออกแบบให้ทำงานได้เฉพาะอย่าง อนาคต AI จะถูกพัฒนาถึงระดับปัญญาเทียบเท่ามนุษย์ ที่เรียกว่า Artificial General Intelligence หรือ AGI สามารถเลือกทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่มนุษย์สั่ง เป็นหุ่นยนต์ที่มีสมองเป็น AI โดยเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ได้อย่างหลากหลาย ทำงานได้เร็วกว่า นานกว่า ฉลาดกว่า และราคาถูกกว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าแรงงานมนุษย์จะหายไปในระบบไม่ต่ำกว่า 50 % ลักษณะงานที่ถูกแทนที่โดย AI เช่น พนักงาน Call Center ผู้ที่ให้บริการในธนาคาร ศิลปินที่เขียนภาพ ฯลฯ ทำให้เกิดโลกแห่งความเหลือเฟือ (Abundant World) เกิดผลิตภัณฑ์ที่ AI ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ราคาจะถูกลงเรื่อยๆ อีกไม่นานสังคมมนุษย์จะเข้าสู่ยุค "เศรษฐกิจยุคหลังแรงงานมนุษย์ (Post-Labor Economy)" ที่ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในสถานะไม่ต้องทำงานแล้ว ซึ่งในเชิงเศรษฐกิจถือว่าเป็น "ชนชั้นไร้ประโยชน์" (Useless Class) จนถึงแนวคิดเรื่องการได้รับ "เงินยังชีพพื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income หรือ UBI)" ในอนาคตทุกคนจะได้เบี้ยยังชีพ ทำให้ความมั่งคั่งของประเทศที่มีอยู่จะหายไปเรื่อยๆ ประเทศที่มีความก้าวหน้าด้าน AI จะครอบครองความมั่งคั่งของโลก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเปลี่ยนไป
"ประชาชนทุกคนต้องมีความรู้เท่าทัน AI (AI Literacy) ซึ่งจะต้องปูพื้นฐานตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตขึ้นจะได้ใช้ AI ให้เป็น ในส่วนของภาครัฐควรตั้งทีมงานในลักษณะที่เป็นมันสมองของชาติเพื่อประมวลข้อมูลทางด้าน AI และพิจารณาว่าจุดยืนของประเทศควรจะอยู่ที่ใด มีการประชาสัมพันธ์แผนยุทธศาสตร์ให้ประชาชนเข้าใจว่าเพราะเหตุใด AI จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งจะต้องทำให้ประชาชนได้รับการอบรมให้มีความเข้าใจในเรื่อง AI" ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย