นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า สนศ. ได้ประสานขอทราบความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า สำนักงานเขตประเวศและโรงเรียนได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. 67 โดยรวบรวมพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร ได้ประสานขอข้อมูลทั้งจากผู้ถูกกล่าวหา ผู้เสียหาย บุคลากรในโรงเรียน และธนาคารที่รับฝากเงินนักเรียนตามโครงการธนาคารโรงเรียน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงและตอบข้อร้องเรียนมายังสำนักงานเขตฯ แต่ยังขาดเอกสารบางอย่าง ในส่วนของธนาคารได้รับการประสานทางโทรศัพท์ว่า ได้รับจดหมายของสำนักงานเขตฯ ที่ประสงค์ขอทราบข้อเท็จจริงและจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว โดยจะตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรให้สำนักงานเขตฯ ทราบ แต่ปัจจุบันสำนักงานเขตฯ ยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับจากธนาคาร อย่างไรก็ตาม สนศ. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า การดำเนินโครงการธนาคารโรงเรียนดังกล่าว เป็นการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างธนาคารกับสถาบันการศึกษา จำนวน 3 ฉบับ โดยผู้อำนวยการภาคและผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการศึกษาเป็นผู้ลงลายมือชื่อ โดยต้นฉบับมอบให้สถาบันการศึกษา คู่ฉบับเก็บไว้เป็นหลักฐานที่ธนาคารภาค สำเนาคู่ฉบับส่งฝ่ายพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมของธนาคาร โดยธนาคารภาคจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตั้งระบบงานธนาคารโรงเรียน เตรียมการเปิดธนาคารโรงเรียน พร้อมจัดอบรมการปฏิบัติงานและระบบงานคอมพิวเตอร์ให้เจ้าหน้าที่ธนาคารโรงเรียน อาจารย์ที่ปรึกษาและพนักงานสาขาพี่เลี้ยง โดยให้สถาบันการศึกษาเปิดบัญชีเงินฝากโครงการธนาคารโรงเรียนบนระบบงาน CBS โดยใช้ชื่อบัญชี "ธนาคารโรงเรียน (ระบุชื่อสถานศึกษา)" และกำหนดรหัสโครงการเป็น "ธนาคารโรงเรียน" ส่วนการรับฝากเงิน การถอนเงิน การกำหนดอัตราดอกเบี้ย การตรวจสอบ การปฏิบัติงานโครงการธนาคารโรงเรียน การยุบเลิกธนาคารโรงเรียน หน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานเป็นไปตามคำสั่งของธนาคาร เรื่อง การดำเนินงานโครงการธนาคารโรงเรียน
ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงตามที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงการฝากเงินของนักเรียนในโรงเรียน มี 3 รูปแบบ ดังนี้ (1) นักเรียนระดับชั้นอนุบาล ฝากเงินกับครูประจำชั้นในห้องเรียนแต่ละวัน โดยครูประจำชั้นบันทึกลงในสมุดบันทึกการออมของแต่ละห้อง และนำฝากธนาคารออมสินโรงเรียนเดือนละ 1-2 ครั้ง (กลางเดือนและสิ้นเดือน) (2) นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ฝากเองตามเวลาที่ห้องธนาคาร และ (3) นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 เขียนฝากกับครูประจำชั้นที่ห้องเรียนและนำใส่กล่องฝากเงินประจำวันแต่ละห้องเรียนวันต่อวัน สามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม การฝากเงินรูปแบบที่ 1-3 เป็นวิธีการที่ขาดความรอบคอบ ไม่สามารถตรวจสอบได้ เสี่ยงต่อการทุจริตของบุคลากรและครูในโรงเรียนสังกัด กทม. หรือการถูกร้องเรียน เนื่องจากวัยของนักเรียน ภาระงาน หรือภาระหนี้สินของครู และระยะเวลาการฝากแต่ละครั้ง อาจทำให้การบันทึกรายการและการรวบรวมเงินฝากธนาคารเกิดความผิดพลาด ตกหล่น คลาดเคลื่อนสูง หรือล่อใจให้เกิดการกระทำความผิดได้
สำหรับแนวทางการควบคุมดูแลโครงการธนาคารโรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษาอาจกำหนดแนวทางในบันทึกความร่วมมือระหว่างธนาคารและโรงเรียนใหม่ โดยให้นักเรียนนำเงินมาฝากกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารโดยตรง ส่วนโรงเรียนเป็นเพียงผู้ติดต่อประสานงานกับธนาคารให้จัดเจ้าหน้าที่มาบริการรับฝากเงินในโรงเรียนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน และแจ้งกำหนดวันเวลาที่แน่นอนให้นักเรียนทราบ เมื่อเจ้าหน้าที่ของธนาคารรับฝาก หรือถอนเงิน ให้บันทึกรายการในสมุดเงินฝากของนักเรียนทุกครั้ง รวมทั้งมีมาตรการควบคุมและกำชับมิให้ครู หรือบุคลากรในโรงเรียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับฝากเงินของนักเรียนไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
ที่มา: กรุงเทพมหานคร