จากการตรวจสอบประกอบคำให้การของเจ้าของบ้าน พบถังเปล่า จำนวน 71 ถัง บางส่วนมีสภาพเก่า และด้านในถังมีสนิม บางส่วนมีสภาพใหม่ แต่ไม่มีการบรรจุก๊าซไว้ด้านใน ส่วนกรณีที่เกิดการระเบิดเป็นถังที่ตั้งวางอยู่หลังรถกระบะ ซึ่งจอดอยู่หน้าบ้าน มีถังเปล่าที่เก็บมาจากลูกค้า เตรียมนำกลับเข้าโรงงานที่คาดว่า น่าจะมีก๊าซตกค้างอยู่ เมื่อคนงานได้เคลื่อนย้ายอาจกระแทกจนทำให้เกิดการระเบิดดังกล่าว ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ถังที่ระเบิดเป็นถังที่ใช้สำหรับบรรจุก๊าซอะเซทิลีน ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้เคลื่อนย้ายถังก๊าซทั้งหมดออกจากอาคารที่เกิดเหตุ เพื่อความปลอดภัยให้กับประชาชนที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง และจากการตรวจติดตามผลวันที่ 24 พ.ค. 67 พบว่า ผู้ประกอบการได้ขนย้ายถังก๊าซชนิดต่าง ๆ ทั้งหมดออกจากอาคารที่เกิดเหตุเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้ออกคำสั่งให้บรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือห้ามใช้อาคารกรณีฉุกเฉิน ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียงและที่สัญจรผ่านไปมา เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารต่อไป รวมทั้งอยู่ระหว่างแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับเจ้าของสถานประกอบกิจการในข้อหาประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทการผลิต สะสม บรรจุ หรือขนส่งก๊าซ ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2561 ออกตามความใน พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังได้สำรวจอาคารที่ได้รับความเสียหายจากเหตุดังกล่าว พบว่า มีจำนวนทั้งหมด 7 หลังคาเรือน ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายของอาคาร เพื่อจะได้ชดเชยค่าเสียหายตามระเบียบทางราชการต่อไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบ ติดตาม กำกับดูแลการประกอบกิจการของสถานประกอบการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ช่วยตรวจสอบ และสอดส่องดูแลผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การประชุมกรรมการชุมชน ช่องทางไลน์เครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงช่องทางการสื่อสารของสำนักงานเขต เพื่อแจ้งเบาะแสการลักลอบการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันของภาคประชาชนกับสำนักงานเขตฯ ตลอดจนประสานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อร่วมตรวจสอบแนะนำสถานประกอบกิจการการผลิต สะสม บรรจุ หรือขนส่งก๊าซในพื้นที่เขตอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองแขม ร่วมกับสำนักงานเขตหนองแขมได้ปิดกั้นพื้นที่และเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัยบริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง และเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา เจ้าของบ้านได้เคลื่อนย้ายถังบรรจุก๊าซก๊าซอะเซทิลีน อ๊อกซิเจน และก๊าชคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ รวม 219 ถัง ออกจากบ้านที่เกิดเหตุเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม สปภ. ได้กำชับให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุกแห่งเตรียมความพร้อมยานพาหนะและอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อป้องกันและระงับเหตุอันตราย หรือเหตุอุบัติภัยที่เกิดจากสารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์
ที่มา: กรุงเทพมหานคร