(1) แปลนพื้นที่การปรับปรุงซอยงามวงศ์วาน 59 มีต้นไม้จำนวนเท่าใดที่อยู่ในพื้นที่การก่อสร้างและมีโครงสร้างบางอย่างสร้างทับตำแหน่งที่ต้นไม้อยู่หรือไม่ (2) ต้นไม้ที่มีสุขภาพดีสามารถฟื้นฟู หรือนำไปปลูกต่อได้หรือไม่ (3) ความเสี่ยงที่ต้นไม้จะทำให้เกิดอันตรายต่อพื้นที่โดยรอบ รวมถึงผู้ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ (4) โครงสร้างของต้นไม้ หรือชนิดต้นไม้เหมาะสมต่อการล้อมย้ายหรือไม่ และ (5) มีข้อจำกัดการทำงานในพื้นที่บริเวณโดยรอบต้นไม้ ไม่สามารถขนย้ายต้นไม้ออกจากพื้นที่ตามปกติหรือไม่ อาทิ อยู่ติดบ้าน เสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า ต้นไม้บริเวณริมถนนส่วนใหญ่อยู่ในแปลนพื้นที่ก่อสร้างต้นไม้ที่มีสุขภาพดีสามารถล้อมย้ายไปลงอนุบาลในพื้นที่ตามที่กำหนด ส่วนต้นไม้ที่สุขภาพไม่ดี หรือโครงสร้างไม่เหมาะสม หรือไม่สามารถล้อมย้ายไปลงอนุบาลได้จะล้อมออกจากพื้นที่
สำหรับการปรับปรุงถนนซอยงามวงศ์วาน 59 ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้ติดป้ายประกาศการดำเนินโครงการปรับปรุงเส้นทางดังกล่าว ตามแนวถนนซอยงามวงศ์วาน 59 และจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2566 ณ โรงเรียนวัดเทวสุนทร ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้พิจารณาพื้นที่ สภาพแวดล้อม ความหนาแน่นของบ้านเรือนและชุมชน การคมนาคม และระบบสาธารณูปโภคแล้วเห็นว่า การปรับปรุงถนนซอยงามวงศ์วาน 59 ตามแนวเส้นทางใหม่ที่ทับซ้อนกับเส้นทางเดิมบางส่วน
สืบเนื่องมาจากการให้ความสำคัญกับทุกชุมชนในพื้นที่ โดยให้ชุมชนที่บุกรุกที่ราชพัสดุสามารถมีบ้านมั่นคงให้อยู่ในพื้นที่บริเวณเดิมได้ และหมู่บ้านที่ผู้ร้องอาศัยอยู่ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่มีการปิดกั้นเส้นทาง สามารถสัญจรเข้าออกจากซอยย่อยสู่ซอยหลักได้ทุกซอย ส่วนระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา สายสื่อสาร จะดำเนินการไปพร้อมกับการก่อสร้างถนนซอยงามวงศ์วาน 59 และเมื่อก่อสร้างถนนใหม่แล้วเสร็จ สำนักงานเขตฯ จะประสานสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เพื่อออกข้อบังคับการจราจรและติดตั้งเครื่องหมายจราจรห้ามจอดรถตลอดซอยงามวงศ์วาน 59 ต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ยังได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนพักอาศัยบริเวณริมคลองเปรมประชากรในพื้นที่เขตจตุจักร ตามโครงการก่อสร้างบ้านมั่นคง โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนแออัดที่ตั้งอยู่บริเวณริมคลองเปรมประชากร ตั้งแต่ช่วงถนนเทศบาลสงเคราะห์ กทม. ไปจนถึงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จังหวัดปทุมธานี มีความยาวตามแนวคลองที่มีประชาชนรุกล้ำประมาณ 17 กิโลเมตร จำนวน 6,386 ครัวเรือน จากทั้งหมด 38 ชุมชน ในพื้นที่เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ และเขตจตุจักร กทม. และตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
โดยมีคณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากรพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่สีเขียว ที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร และอื่น ๆ เพื่อเป็นกรอบการบริหารจัดการพื้นที่ริมคลองให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการก่อสร้างบ้านมั่นคงในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2562 ประกอบด้วยภารกิจหลักที่ดำเนินการไปพร้อมกัน คือ การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กริมคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสำนักการระบายน้ำ กทม. และในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคงให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวลำคลอง โดยให้แต่ละชุมชนจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานของชุมชน เพื่อบริหารโครงการและงบประมาณ สำหรับกรณีตามคำร้องนี้คือ สหกรณ์เคหสถานสามัคคีเทวสุนทร จำกัด
สำหรับแผนการดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะกำหนดให้สมาชิกในชุมชนทั้งหมดร่วมกันรื้อย้ายบ้านเดิมที่รุกล้ำลำคลองและก่อสร้างบ้านใหม่บนที่ดินเดิม โดยเริ่มจากการเช่าที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ ซึ่งสหกรณ์เคหสถานสามัคคีเทวสุนทร จำกัด ได้รับอนุญาตให้เช่าตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563 ระยะเวลาการเช่า 30 ปี เนื้อที่ประมาณ 8-0-21 ไร่ เพื่อให้ กทม. ก่อสร้างถนน เพื่อประโยชน์ในการสัญจรของคนในชุมชนและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวได้รับยกเว้นการจัดทำรายงาน EIA แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งอย่างน้อยต้องมีมาตรการเคลื่อนย้ายชุมชนและติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้ความเห็นชอบ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2560 ลงวันที่ 21 ก.พ. 2560 เรื่อง การดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำน้ำสาธารณะ
โดย พอช. ได้เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะดำเนินการ รวม 11 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณภาพอากาศ เสียง และความสั่นสะเทือน การชะล้างพังทลายของดิน การใช้น้ำ การจัดการน้ำเสีย การระบายน้ำฝน การจัดการขยะมูลฝอย ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านอัคคีภัย ด้านสุนทรียภาพ ด้านสังคม และด้านการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่ง สผ. ได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 นอกจากนี้ พอช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมธนารักษ์ สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตจตุจักร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ฝ่ายความมั่นคง และตำรวจ จัดเวทีสาธารณะ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนทราบถึงวัตถุประสงค์ ขั้นตอน และแนวทางการดำเนินงาน และประโยชน์ของโครงการ โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562
ทั้งนี้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม พอช. ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่เป็นประจำ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงและคลี่คลายปัญหาข้อร้องเรียนต่าง ๆ เช่น เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 กรมธนารักษ์จัดประชุมหารือการคัดค้านการสร้างบ้านมั่นคงของสหกรณ์เคหสถานสามัคคีเทวสุนทร จำกัด และเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2566 สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่บริเวณซอยงามวงศ์วาน 59 และจัดประชุมชี้แจงข้อมูล ณ โรงเรียนวัดเทวสุนทร เขตจตุจักร เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการปรับปรุงซอยงามวงศ์วาน 59 เป็นต้น
ที่มา: กรุงเทพมหานคร