สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เรียบเรียงข้อมูลและงานวิจัยระดับโลก ชี้ ความหลากหลายทางชีวภาพไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เชื่อมโยงคุณภาพชีวิต

จันทร์ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ๑๕:๔๙
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันการถูกคุกคามและการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทบไม่น่าเชื่อโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลเปิดเผยข้อมูลช่วงพ.ศ. 2513-2561 ชนิดพันธุ์ในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลัง ลดลงกว่าร้อยละ 68 ความหลากหลายทางชีวภาพในโลกจึงกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง สอดคล้องกับรายงาน Global Risks Report 2024 ที่ระบุว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศเป็นความเสี่ยงของโลกในอันดับต้น ๆ ร่วมกับสภาพภูมิอากาศสุดขั้วและการเปลี่ยนแปลงระบบของโลกในระดับวิกฤต ซึ่งกำลังส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีและความอยู่รอดของมนุษย์เรา ความเสี่ยงเหล่านี้เกิดจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตรและเมือง และกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะมีการขุดเจาะน้ำมัน การทำเหมืองแร่ การตัดไม้ทำลายป่า และกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งบนบกและในทะเล อาจส่งผลกระทบต่อความชุกชุม การกระจาย และการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ การใช้ประโยชน์มากเกินไป และการรุกรานจากสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ล้วนขับเคลื่อนให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจึงเรียกว่าเป็นยุคเสี่ยงของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติเท่านั้น คุณธนิรัตน์ ธนวัฒน์ นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้เรียบเรียงข้อมูลข้อมูลและงานวิจัยโดยหยิบยกประเด็นใกล้ตัวเรามาฝากคือ การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ดีต่อสุขภาพของมนุษย์
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เรียบเรียงข้อมูลและงานวิจัยระดับโลก ชี้ ความหลากหลายทางชีวภาพไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เชื่อมโยงคุณภาพชีวิต

อาหารที่ดี ต้องมีความหลากหลาย (ทางชีวภาพ)

มนุษย์เราล้วนพึ่งพาอาหารจากพืชและสัตว์ทั้งบนบกและในทะเล แล้วทราบกันหรือไม่ว่า การบริโภคอาหารในแต่ละวันให้มีความหลากหลายทางชีวภาพหรือหลากหลายสายพันธุ์จะช่วยให้เราได้รับสารอาหารรอง (Micronutrients) อย่างเพียงพอ ซึ่งมีความสำคัญพอ ๆ กับการบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่

ผักผลไม้ที่มีสายพันธุ์ต่างกันแม้เพียงน้อยนิดจะมีสารอาหารรองที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่ผักผลไม้ในสายพันธุ์เดียวกัน แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ก็จะมีสารอาหารรองแตกต่างกัน

อย่างกรณีกล้วยที่มีเนื้อสีส้ม (orange-fleshed banana) จะมีเบต้าแคโรทีนสูงกว่ากล้วยเนื้อสีขาวอย่างที่เราคุ้นเคยกัน การมีข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมสร้างทางเลือกที่ดีในการบริโภค หรือพืชในกลุ่มกะหล่ำปลีและบ๊อกฉ่อยที่เป็นพืชในตระกูลกะหล่ำเหมือนกัน อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ช่วยบำรุงกระดูกเหมือนกัน แต่กะหล่ำปลีจะมีกรดทาร์ทาริก (Tartaric acid) ที่ช่วยยับยั้งไม่ให้น้ำตาลและแป้งกลายเป็นไขมัน ส่วนบ๊อกฉ่อยมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามิน C, E เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) และซีลีเนียม (Selenium) ที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นพืชชนิดเดียวกันแต่คุณประโยชน์ยังแตกต่างกัน

ดังนั้นพื้นที่ทางธรรมชาติเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นไม่ว่าป่าไม้ แม่น้ำ คูคลอง บึง พื้นที่สีเขียวในเมือง ได้เอื้อประโยชน์ด้านต่างๆ พื้นที่ทางธรรมชาติยังมีคุณค่าทางจิตใจของคนเมือง ทำให้สภาพแวดล้อมน่าอยู่ ช่วยผ่อนคลายจากความเครียด สร้างเสริมสุขภาพกายที่ดี จากมีพื้นที่เปิดโล่งที่มีอากาศถ่ายเท เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมนันทนาการรูปแบบต่าง ๆ และช่วยเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีของเด็กรุ่นใหม่ แต่น่าเสียดายว่าพื้นที่ทางธรรมชาติหลายแห่งถูกเปลี่ยนไป เพราะมองว่าเป็น "พื้นที่รกร้าง" ไม่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หารู้ไม่ว่า… พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่รองรับและซับน้ำ ช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้งในหลายเมืองทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ให้ความชุ่มชื้นและความร่มรื่น ช่วยลดอุณหภูมิของเมืองจากปรากฎการณ์เกาะความร้อนเมือง (Urban heat island : UHI) ส่วนพื้นที่ธรรมชาติขนาดใหญ่ ได้ช่วยในด้านน้ำสะอาด อากาศสะอาด ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของศัตรูพืชและเชื้อโรค และควบคุมสภาพภูมิอากาศหลายเมืองทั่วโลกจึงเริ่มคิดและออกแบบเมืองคู่กับการรักษาพื้นที่ทางธรรมชาติ เพราะตระหนักถึงความจำเป็นในการคุ้มครองแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ล้วนช่วยสร้างเสริมสุขภาพที่ดี เพราะเชื่อว่าพื้นที่ทางธรรมชาติ เมืองน่าอยู่ สู่สุขภาพดี

นอกจากนี้ คุณธนิรัตน์ นักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยังได้เรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพในงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ว่าความหลากหลายทางชีวภาพกับสุขภาพของมนุษย์เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ เพราะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและน้ำ ความเสี่ยงภัยธรรมชาติ ความเสี่ยงต่อโรคระบาด การมีแหล่งรวมพันธุกรรมสำหรับผลิตวัคซีน ยาแผนปัจจุบัน และสมุนไพร ล้วนเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น

เริ่มจากการส่งเสริมการบริโภคอาหารปลอดภัย อาหารพื้นถิ่น และอาหารที่หลากหลาย ที่ไม่ใช้หรือควบคุมการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งทำให้ทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรมีสุขภาพที่ดี ลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การบริโภคอาหารพื้นถิ่นจะช่วยลดการนำเข้าชนิดพันธุ์จากต่างถิ่น ที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อชนิดพันธุ์อื่น ช่วยรักษาแหล่งพันธุกรรมพื้นถิ่น ส่วนอาหารที่หลากหลายนอกจากจะช่วยลดความจำเจแล้ว ยังเป็นการรักษาหลากหลายสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตในท้องถิ่น ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การรักษาสภาพแวดล้อมในเมืองและชุมชน ด้วยการคุ้มครองพื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำธรรมชาติ ป้องกันและลดมลพิษทั้งอากาศ น้ำเสีย และขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นการป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพของมนุษย์และยังส่งผลดีต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ เพื่อเสริมพัฒนาการของเด็ก ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ การสำรวจและรวบรวมข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสร้างคุณค่าและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ความตระหนักของเด็กในการร่วมกันดูแลรักษาแหล่งธรรมชาติใกล้ตัว

การส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการและการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ โดยเฉพาะการทำกิจกรรมในพื้นที่ทางธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สวยงาม ด้วยการศึกษาข้อมูล กฎระเบียบ และมาตรการที่กำหนดในการเข้าไปท่องเที่ยวล่วงหน้า ทั้งการกำจัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้มากเกินไป พื้นที่ที่อนุญาตให้เข้าไปท่องเที่ยวได้ และปฏิบัติตามข้อห้ามและคำแนะนำในการท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ส่งเสียงดัง ไม่หยิบจับ ย้าย หรือนำออกมาจากพื้นที่ ไม่ใช้สารเคมีกำจัดแมลงหรือครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อปะการัง ไม่สัมผัสตัวสัตว์และไม่ควรพยายามไล่ตาม หรือหลอกล่อให้สัตว์เข้าใกล้ด้วยอาหารของมนุษย์ รวมถึงวางแผนลดการเกิดขยะให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และนำขยะกลับมาจำกัดอย่างเหมาะสม ตลอดจนมาตรการเพื่อความปลอดภัยต่าง ๆ

ทั้งนี้ ภาคีด้านสุขภาพสามารถมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ ผ่านกระบวนการจัดทำแผนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ (NBSAP) ที่กำลังดำเนินให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) คือ "การมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภายในปี 2050 หรือ พ.ศ. 2593"

ที่มา: สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ