ข้อมูลการสำรวจการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนมัธยมศึกษาและเทียบเท่าในเขตพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 5,813 คน ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 14.5 ของนักเรียนที่ตอบแบบสอบถามเคยใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยพบว่า นักเรียนชายมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้า (ร้อยละ 19.6) มากกว่านักเรียนหญิง (ร้อยละ 11.2) อย่างไรก็ตามสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบในนักเรียนเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า และจากการสำรวจผลกระทบหรืออาการข้างเคียงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า ผู้ที่สูบและเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีอาการ ดังนี้ 1. ระบบหายใจส่วนบน เช่น ไอ/ เจ็บคอ/ มีน้ำมูก (ร้อยละ 63.5) 2. ระบบหายใจส่วนล่าง เช่น หายใจหอบเหนื่อย/แน่นหน้าอก (ร้อยละ 18.9) 3. ระบบหัวใจ เช่น ใจสั่น/ หัวใจเต้นเร็ว/ เหงื่อแตก (ร้อยละ 12.8 ) และผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น ด้านการใช้จ่าย (ร้อยละ 20) ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง (ร้อยละ 8.8) (ที่มา : โครงการสำรวจการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบในนักเรียนมัธยมศึกษาและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ 2567 ศูนย์วิจัยและจัดการเรียนรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ)
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันเยาวชนที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ได้ง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้งผลิตภัณฑ์ยังออกแบบให้พกพาง่าย รูปร่างสวยงาม มีกลิ่นหอม ดึงดูดใจ ทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าไม่อันตราย ทั้งที่จริงแล้วควันบุหรี่ไฟฟ้าที่ปล่อยออกมา หรือที่เรียกว่า ควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง ภายในควันประกอบด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสารนิโคตินที่มีปริมาณสูง สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก สารแต่งกลิ่นและรส รวมถึงสารประกอบอินทรีย์ โดยเฉพาะสารไดอะซิทิล (Diacetyl) ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งต่อผู้สูบและผู้ใกล้ชิด
นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก สคร.12 สงขลา ร่วมรณรงค์ #บุหรี่ไฟฟ้า : หยุดโกหกได้แล้ว (Stop The lies) เพื่อสร้างการรับรู้ถึงอันตรายของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า และอันตรายสารพิษต่าง ๆ ที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า และประชาชนเกิดความตระหนักถึงอันตรายจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและรู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบ
สคร.12 สงขลา ขอเน้นย้ำไปยังประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำลายสุขภาพ อย่าหลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ เพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการเสพติดสารนิโคตินเช่นเดียวกับ
การสูบบุหรี่ทั่วไป อีกทั้งการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะ ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการอยากเลิกบุหรี่ สามารถขอรับคำปรึกษาฟรี ได้ที่ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ โทร. 1600 หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค 0 2590 3850 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ที่มา: สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา