ทั้งนี้ หากประชาชนมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือการสัมผัสใกล้ชิด กอดจูบลูบคลำ พูดคุยระยะ 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือเคยดูแลผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานรให้สังเกตอาการตนเองเบื้องต้นภายใน 21 วัน หากมีผื่น มีตุ่มน้ำตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ ให้เข้ารับการตรวจที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ใกล้บ้านทันที เพื่อตรวจหาเชื้อโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจมีอาการรุนแรงได้ ขอเตือนประชาชนไม่ควรประมาท เนื่องจากโรคฝีดาษวานรติดได้ทุกคนหากมีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ โดยหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน เป็นต้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร ไม่คลุกคลี หรือสัมผัสตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ ซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้า หรือมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนกลาง เช่น หนูแกมเบียน กระรอกดิน หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และควรหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีกิจกรรมการรวมตัว หรือพบปะสังสรรค์ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานร
ที่มา: กรุงเทพมหานคร