นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นไม่พบเครื่องจักร หรือผลิตภัณฑ์ปรุงรสในอาคารดังกล่าว แต่ตรวจพบบรรจุภัณฑ์ที่ยังไม่ได้ใช้ (ภาชนะเปล่า) และเกลือจำนวนหลายกระสอบ นอกจากนั้น อาคารหลังดังกล่าวมิได้ขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือขออนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่าย หรือสะสมอาหาร ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการหยุดประกอบกิจการจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เนื่องจากลักษณะการประกอบกิจการดังกล่าวเข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการผลิต สะสม หรือแบ่งบรรจุ ผงชูรส หรือสารปรุงแต่งอาหาร
ทั้งนี้ กทม. ได้ดำเนินการตรวจสอบ กำกับ ดูแลสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยสำนักงานเขตฯ ตรวจสอบสุขลักษณะสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กทม. ตามอำนาจหน้าที่เป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงให้คำแนะนำแก่สถานประกอบกิจการผลิตอาหารให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านสุขลักษณะ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค นอกจากจะกำกับดูแลสถานประกอบการในรายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กทม. แล้ว ผู้บริหาร กทม. ยังได้สั่งการให้สำนักงานเขตสำรวจสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต รวมทั้งสถานประกอบการสถานที่ผลิตอาหารด้วย เพื่อกำกับดูแลสถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป
ขณะเดียวกัน กทม. ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในพื้นที่ เพื่อให้สำนักงานเขตเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบ นอกจากนั้น สนอ. ยังมีข้อแนะนำสำหรับประชาชนในการเลือกซื้อเครื่องปรุงรส โดยให้สังเกตฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สังเกตบรรจุภัณฑ์ หรือภาชนะบรรจุ สังเกตลักษณะของอาหาร เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค ดังนี้ (1) เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากชัดเจน ระบุข้อมูลการผลิต ได้แก่ ผู้ผลิต สถานที่ผลิต วันเดือนปี ที่ ผลิตและหมดอายุ (2) บรรจุภัณฑ์สะอาด ปิดผนึกอย่างสนิท ไม่มีรอยบุ๋ม ไม่มีร่องรอยการถูกเปิดมาก่อน (3) ลักษณะทางกายภาพ สี กลิ่น ไม่ผิดปกติจากเดิม กรณีผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำปลา ซีอิ๊ว ต้องใส ไม่มีตะกอนก้นขวด ในน้ำปลาแท้บางครั้งอาจพบผลึกใส ๆ ตกอยู่ที่ก้นขวด ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีตามธรรมชาติไม่ถือว่ามีอันตราย และ (4) ซื้อสินค้าในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการใช้ หากซื้อมากเกินไปจะเสี่ยงต่อการหมดอายุของสินค้าก่อนที่จะได้รับการบริโภค หากผู้บริโภคสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว ไม่พบเลขสารบบอาหาร หรือแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งอยู่ในขอบเขตอำนาจของ อย. ที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและบังคับการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ที่มา: กรุงเทพมหานคร