นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้ตนในฐานะที่กำกับดูแล สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบควบคุมคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุ โดยเฉพาะเรื่องความสุกแก่ของทุเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐาน มกษ.3-2556 คือ มีเปอร์เซ็นต์แป้งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 32 และจัดเกรดโรงคัดบรรจุทุเรียนสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เพื่อแบ่งระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบควบคุมคุณภาพหลังประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียนพันธุ์หมอนทองเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 พร้อมกับเพิ่มอัตรากำลังนายตรวจพืชเป็น 60 คน แต่งตั้งผู้จัดการพื้นที่การผลิตทุเรียนจากด่านตรวจพืช 9 แห่งที่มีโรงคัดบรรจุทุเรียนตั้งอยู่ โดยกำชับให้ด่านตรวจพืชตรวจสอบศัตรูพืช และปฏิบัติตามเงื่อนไขในพิธีสารไทย-จีนอย่างเคร่งครัด และอำนวยความสะดวกในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) แก่ผู้ส่งออก รวมทั้งให้ด่านตรวจพืชบริเวณชายแดนบูรณาการกับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ และกรมศุลกากรในการตรวจสอบปราบปรามการลักลอบนำเข้าทุเรียนจากต่างประเทศมาสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทยเพื่อส่งออกไปจีน
โฆษกกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในฤดูกาลส่งออกทุเรียนปี พ.ศ. 2567 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้ผลักดันขยายผล "จันทบุรีโมเดล" ในการควบคุมคุณภาพทุเรียนไปยังพื้นที่การผลิตทุเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ตอนบนโดยเฉพาะที่จังหวัดชุมพร รวมไปถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย ศรีสะเกษ กาญจนบุรี และยะลา ซึ่งแต่ละจังหวัดได้มีการประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียนไว้แล้ว และให้มีการบูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในทุกพื้นที่การผลิตทุเรียน โดยกรมวิชาการเกษตรพร้อมนำ "มาตรการกรอง 4 ชั้น" มาบังคับใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดทันที
ผลการตรวจสอบความสุกแก่ของทุเรียน ซึ่งวัดจากผลการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ณ โรงคัดบรรจุของภาคตะวันออก มีโรงคัดบรรจุเปิดทำการ 515 แห่ง โดยมีการสุ่มตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน จำนวน 17,526 ตัวอย่าง มีตัวอย่างผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 17,118 ตัวอย่าง คิดเป็น 97.70 เปอร์เซ็นต์ และไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 408 ตัวอย่าง คิดเป็น 2.30 เปอร์เซ็นต์ โดยทุเรียนในปี 2567 มีคุณภาพตามเกณฑ์สูงขึ้นมากกว่าปี 2566 ซึ่งมีทุเรียนมีคุณภาพผ่านเกณฑ์ 93.70 เปอร์เซ็นต์ โดยสาเหตุที่ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพมากขึ้นเพราะมีการใช้ "จันทบุรีโมเดล" อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฝ่ายปกครองภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้เกิดการยอมรับ ความร่วมมือของเกษตรกรและโรงคัดบรรจุที่จะรักษาคุณภาพทุเรียนไทย เให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เกิดความยั่งยืนในอนาคต โดยการส่งออกทุเรียนไปจีนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 พฤษภาคม 2567 มีจำนวน 30,270 ตู้/ชิปเม้นท์ ปริมาณรวม 476,706.61 ตัน มูลค่า 63,568.22 ล้านบาท
"สำหรับการปราบปรามการลักลอบนำเข้าทุเรียนจากต่างประเทศมาสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยเพื่อส่งออกไปจีนนั้น กรมวิชาการเกษตรได้มีหนังสือเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ลงนามถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ เพื่อแจ้งหน่วยงานความมั่นคง ณ บริเวณพื้นที่แนวชายแดน จุดผ่อนปรน และจุดที่มีความเสี่ยงต่างๆ ในการบูรณาการกับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชของกระทรวงเกษตร ด่านตรวจพืช และด่านศุลกากร ในการป้องปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าพืชที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร โดยเฉพาะด่านพรมแดน เพื่อป้องกันควบคุมเฝ้าระวังโรคและศัตรูพืชสำคัญที่อาจจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาด โดยในเดือนพฤษภาคม 2567 ได้มีการจับกุมลักลอบนำเข้าทุเรียนจากต่างประเทศที่จังหวัดสระแก้วแล้วจำนวน 1,780 ผล น้ำหนักรวม 5,049 ตัน ซึ่งการดำเนินการป้องปรามดังกล่าวก็จะยังคงความเข้มข้นต่อไป" โฆษกกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ที่มา: กรมวิชาการเกษตร