นายพิศาล พงศาพิชณ์เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้มอบหมายให้ น.สพ.พิทักษ์ ชายสม ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานสุขอนามัยสัตว์ และ สพ.ญ.ขวัญหทัย ทองปลาด ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานสุขอนามัยสัตว์ สำนักกำหนดมาตรฐาน เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 91 ขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (91st General Session of the World Assembly of National Delegates of the World Organisation for Animal Health (WOAH)) ระหว่างวันที่ 26-30 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ร่วมกับคณะผู้แทนไทย ซึ่งมี น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ทำหน้าที่ผู้แทนประเทศไทยของ WOAH (WOAH Delegate) พร้อมด้วยผู้แทนกรมปศุสัตว์และกรมประมง
การประชุมดังกล่าว ได้มีหารือเกี่ยวกับการกำหนดและทบทวนมาตรฐานของ WOAH รวมทั้งความก้าวหน้าของการดำเนินงานในการควบคุมโรคระบาดสัตว์ของประเทศสมาชิก โดยในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้ร่วมแสดงท่าทีในการรับรองมาตรฐานของ WOAH ทั้งด้านสุขภาพสัตว์บกและสัตว์น้ำ เช่น สนับสนุนการรับรองข้อกำหนด เรื่อง โรคปากและเท้าเปื่อย ที่ได้เพิ่มประเด็นการยอมรับหลักการคอมพาร์ตเมนต์ปลอดโรคร่วมกับการใช้วัคซีน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสมาชิกสามารถค้าขายสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้อย่างปลอดภัย เพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับไทยในการส่งออกสัตว์เคี้ยวเอื้องมีชีวิตไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และร่วมแสดงท่าทีคัดค้านการกำหนดค่ากระแสไฟฟ้าขั้นต่ำสำหรับการทำสลบสัตว์ปีกด้วยการผ่านกระแสไฟฟ้าลงในอ่างน้ำ (electrical water-bath stunning) ภายใต้ข้อกำหนด เรื่อง สวัสดิภาพสัตว์ระหว่างการฆ่าสัตว์ในโรงฆ่า ซึ่งประเทศไทยและสมาชิกอาเซียนหลายประเทศเห็นว่า ควรมีข้อกำหนดที่เปิดกว้างให้สามารถใช้พารามิเตอร์อื่นๆ ที่เหมาะสมกับสภาพของการทำสลบสัตว์ปีกเชิงการค้าที่มีความหลากหลายแต่สามารถให้ผลลัพธ์ทางสวัสดิภาพสัตว์ได้เช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติและไม่ก่อให้เกิดข้อกีดกันทางการค้า
เลขาธิการ มกอช. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้ร่วมแสดงท่าทีคัดค้านการกำหนดโรคติดเชื้อ Megalocytivirus pagrus 1 (หรือในชื่อเดิม spleen and kidney necrosis virus) ไม่ให้มีการรวมไว้ในบัญชีรายชื่อโรคระบาดสัตว์น้ำของ WOAH เนื่องจากยังขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะสนับสนุนการทดสอบความใช้ได้ของเทคนิคการชันสูตรไวรัสในทุกจีโนกรุ๊ปตามของข่ายที่ WOAH กำหนดไว้ เพื่อที่จะให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้ในการตรวจติดตามและเฝ้าระวังโรค รวมทั้งได้ร้องขอให้ WOAH พิจารณาข้อมูลเอกสารอ้างอิงในการกำหนดรายการสินค้าปลอดภัย (list of safe commodities) สำหรับโรคพยาธิปลิงใส Gyrodactylus salaris และโรคไวรัสทิลาเปียเลค (tilapia lake virus; TiLV) โดยขอให้มีการนำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมและเป็นปัจจุบันมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดมาตรฐานของ WOAH เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประเด็นทางการค้าระหว่างประเทศ
ที่มา: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ