คุณชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผย ถึงจุดริเริ่มของโครงการ "เวิลด์แก๊ส ZERO WASTE You ทิ้ง We Turn" ว่า ปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน มีปัจจัยมาจากการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้า อาหาร และการบริการเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเติบโตของขยะที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการการจัดการขยะอย่างไม่ถูกต้อง และนี่ถือเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักช่วยเร่งให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบกับโลกของเรา ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จึงอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหา โดยคิดต่อยอดจากสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาตลอด ตามพันธกิจ "We Promise" ที่มุ่งเคียงข้างสร้างรอยยิ้มให้กับชุมชนและสังคมเสมอมา ที่เราได้ให้การสนับสนุนการจัดเทศกาลอาหารมาอย่างยาวนาน เพื่อก่อให้เกิดรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจของผู้ประกอบอาชีพในกลุ่มร้านอาหาร สร้างการกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการรายย่อยอย่างแท้จริงและยั่งยืน เมื่อเราส่งเสริมในด้านนี้จึงก่อให้เกิดบรรจุภัณฑ์อาหารที่ใช้รองรับการซื้อขายที่เพิ่มมากขึ้นตามมา เราจึงคิดต่อยอดเรื่องการคัดแยกประเภทของขยะเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราจึงมองถึงจุดเริ่มต้นของวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์ ต้องเริ่มจากการคัดแยกขยะต้นทางเพื่อให้ง่ายสำหรับการนำไปผ่านกระบวนการต่างๆได้อย่างถูกต้อง เราจึงได้ริเริ่มโครงการนำร่องการจัดการแยกขยะในงานเทศกาลอาหารที่บริษัทฯได้เข้าไปสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้เป็นเทศกาลอาหารสีเขียว (Green Event) โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยระบบการจัดการคัดแยกขยะเพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยภายในงาน โดยภายในงาน เราได้วางจุด "Food Waste Station" หรือจุดแยกขยะ ที่จัดเตรียมถังขยะแต่ละประเภท อันประกอบด้วย ถังขยะรีไซเคิล ถังขยะเศษอาหาร และถังขยะทั่วไป ประจำตามจุดต่าง ๆ ครอบคลุมทั่วทั้งงานเพื่อการคัดแยกขยะ ป้องกันการปนเปื้อนบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมด้วย Green Mentor
(ผู้แนะนำการคัดแยกขยะ) ประจำจุดทิ้งขยะ ซึ่งโดยปกติแล้วหลายๆสถานที่ เล็งเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะ จึงได้จัดถังขยะแต่ละประเภทไว้รองรับ แต่ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องของการคัดแยกขยะที่ชัดเจน จึงทำให้ขยะเกิดการปนเปื้อนและแยกไม่ได้ กลายเป็นขยะมูลฝอยในที่สุด ดังนั้น สิ่งที่เราให้ความสำคัญกับโครงการนำร่องนี้ คือ การให้ Green Mentor (ผู้แนะนำการคัดแยกขยะ) ประจำทุกจุดการทิ้งขยะ เพื่อคอยให้คำแนะนำและสร้างความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมงานในการคัดแยกขยะให้ตรงตามแต่ละประเภท และเส้นทางของขยะแต่ละประเภทต้องทำให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
โดยภายหลังจากการจบงานเรียบร้อยแล้ว ขยะที่รีไซเคิลได้จะถูกส่งมอบให้กับโครงการ "วน" (Won Project) เพื่อลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง โดยนำถุงพลาสติกกลับมารีไซเคิล เพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่วนขยะที่ย่อยสลายยากและไม่สามารถรีไซเคิลได้ เราได้รับความร่วมมือจาก ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตของแต่ละพื้นที่ที่จัดงาน นำรถเก็บขยะมูลฝอยเข้ามารับขยะ และถูกส่งต่อไปกำจัดตามกระบวนการอย่างถูกต้องเหมาะสม และขยะเศษอาหาร จะถูกนำไปเป็นอาหารสัตว์ นำส่งให้แก่เกษตรกรและปศุสัตว์รายย่อยเขตหนอกจอก เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสัตว์ต่อไป
โดยเราจะเริ่มนำร่องรูปแบบการคัดแยกประเภทของขยะ ภายใต้การจัดงานเทศกาลอาหารของพันธมิตรผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ประเภทอาหาร เช่น รายการลิ้นติดโปร และรายการเปรี้ยวปาก ตลอดทั้งปี และจัดตั้งเป็นแผนการจัดการขยะในทุกการสนับสนุนเทศกาลอาหารในทุกๆปีต่อไป นอกจากนี้แล้วเรายังได้เข้าร่วมในโครงการส่งต่อขยะเพื่อการทำประโยชน์ได้ในทุกรูปแบบทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน เพื่อการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างคุ้มค่าเพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและในการศึกษาต่อๆไป เราคาดว่าจะพัฒนาโครงการเหล่านี้ ให้ไปถึงกลไกที่สามารถเทิร์นกลับมาเป็นคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์กลับมายังองค์กรและหน่วยธุรกิจในอนาคตได้" คุณชมกมลกล่าว
ที่มา: โอกิลวี่ ประเทศไทย