เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ธนาคารกรุงไทย ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ 12 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับเกียรติจาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนาม
นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม ผู้บริหารสายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารตระหนักถึงความเดือดร้อนของข้าราชการ จากปัญหาหนี้สิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ โดยเฉพาะข้าราชการกลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้สูงและเรื้อรัง เงินเดือนถูกหักเงินไปใช้หนี้จนเกือบหมด มีเหลือใช้ในแต่ละเดือนไม่ถึง 30% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้ต้องไปกู้เพิ่ม เพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จนมีหนี้อยู่หลายแห่ง กระจัดกระจาย และอยู่ในวงจรหนี้ไม่จบ ไม่สิ้น
ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารกรุงไทยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการกลุ่มเปราะบาง ตามนโยบายของรัฐบาลและท่านนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ( เครดิตบูโร) ในการแก้ไขปัญหาหนี้แบบองค์รวมอย่างเป็นระบบ ผ่านโครงการ "สินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน" เพิ่มเติมจากมาตรการความช่วยเหลือข้าราชการที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยเร่งพัฒนารูปแบบและวิธีการต่างๆ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัด ปัญหาและอุปสรรคในเชิงระบบ ทั้งด้านการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการประเมินสภาพและสถานะของหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือข้าราชการได้อย่างตรงจุด ทันการณ์ และเพิ่มความสามารถในการดำรงชีพของข้าราชการอย่างเหมาะสม
ล่าสุด ธนาคารได้ขยายความร่วมมือการแก้ไขหนี้ข้าราชการกับกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านโครงการ "สินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน สำหรับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ" สำหรับข้าราชการที่มีสินเชื่อกรุงไทยวงเงินฉุกเฉินและ/หรือสินเชื่ออเนกประสงค์ข้าราชการ (MOU) และเป็นข้าราชการที่ในอนาคตจะมีสิทธิได้รับหนังสือรับรองสิทธิบำเหน็จตกทอดจากกรมบัญชีกลางเมื่อเกษียณอายุ และมีสิทธิจะได้รับบำนาญรายเดือนหลังเกษียณอายุ โดยสามารถรวมหนี้รายย่อยทุกประเภท ทั้งสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ จากทั้งธนาคารกรุงไทยและสถาบันการเงินอื่นๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- สินเชื่อแบบใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งสินเชื่อบ้าน (พร้อมขอกู้เพิ่ม) และสินเชื่อบ้านแลกเงิน (พร้อมขอกู้เพิ่ม) อัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ 3.50% ต่อปี 3 ปีแรก หลังจากนั้น อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.75% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา (อัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา 4.49% ต่อปี โดยคำนวณจากวงเงินกู้ 1 ล้านบาท อายุสัญญาสูงสุด 40 ปี ผ่อนชำระ 4,700 บาท/เดือน) โดยได้รับยกเว้นค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ประกัน
- สินเชื่อแบบไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.75% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
จุดเด่นโครงการ
- สามารถร่วมใช้บริการทางการเงินกับสหกรณ์ที่ข้าราชการเป็นสมาชิก (Co-Exist) โดยที่ให้มีเงินเหลือใช้เพื่อดำรงชีพไม่น้อยกว่า 30% และยังสามารถหมดหนี้ได้หลังเกษียณ
- อัตราดอกเบี้ยต่ำ "คงที่" ตลอดอายุสัญญา ไม่ผันผวนไปตามทิศทางของดอกเบี้ย วางแผนการบริหารหนี้ระยะยาวและสภาพคล่องได้ดียิ่งขึ้น
- ขยายระยะเวลาคืนหนี้ และอายุผู้กู้ ให้สามารถชำระได้สูงสุดถึงอายุ 80 ปี จากเดิมกำหนดอายุถึง 60 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับข้าราชการ
- สร้างวินัยการเงิน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน ในระหว่างเข้าร่วมมาตรการฯ ลูกหนี้จะเข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์ไม่ก่อหนี้เพิ่ม โดยธนาคารร่วมมือกับเครดิตบูโร ในการแจ้งเตือน หากลูกหนี้มีการก่อหนี้เพิ่มและร่วมมือกับสหกรณ์ในการแชร์ข้อมูลสถานะหนี้ โดยได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ( iLock Bureau)
- โปรแกรมตรวจสุขภาพทางการเงิน เป็นเครื่องมือตรวจสุขภาพทางการเงินออนไลน์ที่จะช่วยให้ทราบสถานะทางการเงินเพื่อช่วยวางแผนเริ่มต้นจัดการหนี้ได้ง่ายๆผ่าน https://krungthai.com/link/รวมหนี้ยั่งยืน
ธนาคารกรุงไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคาดหวังว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหลุดพ้นวงจรหนี้ ดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ผู้ที่สนใจ ขอคำแนะนำการแก้หนี้อย่างยั่งยืนได้ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือ Krungthai Contact Center 02 111 1111 กด 99
ที่มา: ธนาคารกรุงไทย