นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Made to Order) และตัวแทนจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ ของ Longi และ inverter ของ Huawei เปิดเผยถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศครึ่งหลังปี 2567 ว่า อุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศยังมีแนวโน้ม การขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากแผนขยายการลงทุนของกลุ่มโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และ โรงงานอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการใช้หม้อแปลงเพิ่มสูงขึ้น โดยจะเห็นได้ในเร็วๆ นี้ ภาครัฐจะมีการเปิดประมูลงานอีกประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมประมูลงานหม้อแปลงไฟฟ้าในส่วนของภาคอุตสาหกรรม และด้านพลังงานทดแทน โดยคาดว่าจะคว้างานประมูลงานดังกล่าวรวมไม่ต่ำกว่า 400-500 ล้านบาท ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวสะท้อนถึงดีมานด์การใช้หม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มขึ้น
ส่วนตลาดส่งออกนั้น มองว่ายังมีความแข็งแกร่ง จากคำสั่งซื้อที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้ทาง QTC ได้รับการยอมรับในตลาดเยอรมัน, สเปน และเดนมาร์ก ที่เป็นตลาดใหม่ในปีนี้ เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวให้ความสำคัญกับนโยบายการลด Carbon Footprint ซึ่งหม้อแปลงไฟฟ้าของ QTC ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในนโยบายดังกล่าว ขณะที่ผลิตภัณฑ์หม้อแปลง Super Low Loss ซึ่งถือเป็นหม้อแปลงที่มีแกนเหล็กทำด้วยเหล็ก (amorphous) ซึ่งเป็นหม้อแปลงประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ปัจจุบันมีการขยายตลาดไปยังต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนเข้าประมูลงานสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง และเสนอขาย 16 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการส่วนขยายจากโรงไฟฟ้าโซลาร์ของบริษัท คิว โซลาร์ 1 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ QTC ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี สอดรับกับนโยบายการให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้มาตรฐานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ขององค์กร เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 และยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การลงทุนให้เป็นไปตามทิศทางของโลก ตลอดจนการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลประกอบการในระยะยาว
"ปัจจุบันบริษัทฯ มี Backlog หม้อแปลงไฟฟ้า ประมาณ 350 ล้านบาท ขณะที่ Backlog QTC RE ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท และมีงานที่รอสรุปสั่งซื้อจากลูกค้า และงานที่จะเข้าเสนองานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ส่งผลให้ในปีนี้ QTC ประเมินอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อน"
และล่าสุด QTC ยกระดับสู่การพัฒนานวัตกรรม Green Innovation โดยผนึกพันธมิตร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) SCGC ในการผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ (Bio Transformer Oil) จากการใช้น้ำมันปาล์มรายแรกของประเทศ โดยคุณสมบัติน้ำมันดังกล่าว ทำให้มีความปลอดภัยในการใช้งานในหม้อแปลงสูง สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติได้ดี โดยล่าสุดได้มีการเติมในหม้อแปลงไฟฟ้าจริงและทำการส่งมอบให้ลูกค้าเอกชนใช้งานเป็นครั้งแรกของประเทศในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และคาดว่าขยายผลในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต
นายพูลพิพัฒน์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทฯ ยังคงวางกลยุทธ์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ผ่านการจัดตั้งบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท คิวทีซี อาร์อี จำกัด (QTC RE) ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายและให้บริการด้านอุปกรณ์โซล่าร์ โดยมีกลยุทธ์ให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการแบบครบวงจร ได้แก่ Solar Inverter, Solar PV Panel, Solar DC Cable, Solar Mounting, etc. เนื่องจากธุรกิจ Solar products เป็นธุรกิจเมกะเทรนด์ ที่มีการขับเคลื่อนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้มีโอกาสเติบโตในอนาคต
ส่วนบริษัท คิวทีซี อีวี จำกัด (QTC EV) ดำเนินธุรกิจในการเป็นตัวแทนจำหน่าย รถบรรทุก EV (EV Commercial Truck) และการลงทุนในสถานีอัดประจุสำหรับรถบรรทุก EV ที่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนด้าน Low Carbon Logistics ของประเทศ ซึ่งบริษัทฯ มีพันธมิตรด้าน EV Commercial Truck, EV Charger และ EV Platform ที่จะมอบบริการแก่ลูกค้าด้าน Logistics ดังนั้นจากแผนการขับเคลื่อนดังกล่าวจะผลักดันให้ QTC ก้าวสู่การสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งด้านรายได้และผลตอบแทนต่อผู้มีส่วนได้เสียในอนาคต
ที่มา: มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์