นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ วันที่ 7 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันความปลอดภัยอาหารโลก" (World Food Safety Day) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความปลอดภัยอาหาร สนับสนุนให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีมาตรฐานความปลอดภัย เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรโลกให้ดียิ่งขึ้น ขจัดความหิวโหย และเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในปีนี้โครงการมาตรฐานอาหารองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก (Joint FAO/WHO CODEX Alimentarius Commission) หรือ โคเด็กซ์ (Codex) ได้กำหนดแนวคิดในการรณรงค์และจัดกิจกรรมภายใต้ "Food Safety: Prepare for the unexpected"
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะเป็นหน่วยงานกลางในการกำหนดท่าทีของประเทศด้านการมาตรฐานและร่วมเจรจาด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงการร่วมกำหนดมาตรฐานของโคเด็กซ์ กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์วันความปลอดภัยอาหารโลก ประจำปี 2567 ในแนวคิด "การเตรียมความพร้อมเพื่อสร้าง
ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่" โดยมีการจัดกิจกรรมการประกาศเจตนารมณ์
ด้านความปลอดภัยทางอาหาร การนำสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานมาสร้างสรรค์เมนูอาหารนำโลคอล (local) สู่เลอค่า และการเสวนาในหัวข้อ การเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านอาหารปลอดภัยโดยเลขาธิการ มกอช. เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และมอบป้ายร้านอาหารวัตถุดิบอาหารปลอดภัยเลือกใช้สินค้า Q (Q Restaurant) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และในช่วงบ่ายวันเดียวกัน มีกิจกรรมเดินรณรงค์วันความปลอดภัยอาหารโลก พร้อมกับมอบป้ายโครงการรับรองสถานที่จำหน่าย สินค้า Q (Q Market) ณ ตลาดสดธนบุรี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร
ความปลอดภัยทางอาหาร ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในภาพรวม
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหารและยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพ
และความปลอดภัยอาหาร ที่มีการดำเนินโครงการสำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างมูลค่าและให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะด้านการเกษตรสร้างมูลค่า
ซึ่งประกอบด้วย 1) เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น 2) เกษตรปลอดภัย 3) เกษตรชีวภาพ 4) เกษตรแปรรูป
และ 5) เกษตรอัจฉริยะ ซึ่งแผนย่อยด้านเกษตรปลอดภัยจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกร ชุมชน ท้องถิ่น รวมถึงผู้ประกอบการ ให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพมาตรฐาน เช่น มาตรฐาน GAP
และเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้สามารถผลิตอาหารภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภค
และการค้าระดับสากล
"การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคถึงความปลอดภัยของอาหารและสินค้าเกษตรไทย เป็นสิ่งสำคัญ และมาตรฐานจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงคุณภาพของสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาด้านมาตรฐาน ให้เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก เมื่อสินค้าเกษตรไทยมีคุณภาพ และมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก จะส่งผลให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่
ที่มั่นคง รวมไปถึงสุขภาพของผู้บริโภคที่ดี สร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมโดยภาพรวมได้" นายอรรถกร กล่าว
ที่มา: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ