ทั้งนี้ กทม. มีแผนการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ปี 2567 ในด้านต่าง ๆ โดยการควบคุมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำรวมทั้งแก้มลิง 35 แห่งและบ่อสูบน้ำ 376 แห่ง สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมถนนซอย เตรียมความพร้อมอุโมงค์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการตรวจสอบและซ่อมบำรุงรักษาประจำปีแล้วเสร็จ เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำในขณะที่ฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำของ สนน. 477 แห่ง และเครื่องสูบน้ำดีเซลของสำนักงานเขต 421 เครื่อง สามารถใช้งานได้ตามปกติ เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์สนับสนุน เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำ และหน่วย BEST เข้าแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ ทั้งการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงการแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณใต้สะพานและท่อลอดต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โดยตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วม หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 50 เขต ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 เป็นต้นไป อีกทั้งปลัดกรุงเทพมหานครยังได้สั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมให้เร่งแก้ไขปัญหาทันที
สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2565 มีทั้งสิ้น 737 แห่ง เป็นจุดเสี่ยงน้ำฝน 617 จุด และจุดเสี่ยงแนวริมแม่น้ำ (น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน) 120 จุด แก้ไขไปแล้ว 179 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 231 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จทันฤดูฝนปีนี้ 190 แห่ง ส่วนปี 2567 ได้รับงบประมาณ จำนวน 72 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จทันฤดูฝนปีนี้ 4 แห่ง และในปี 2568 อยู่ระหว่างของบประมาณ จำนวน 75 แห่ง คงเหลือที่อยู่ในระหว่างสำรวจและหาแนวทางแก้ไขอีก 180 แห่ง อย่างไรก็ตาม กทม. ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ สนน. ทราบเป็นประจำทุกเดือน พร้อมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำจะประสานแจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดก่อสร้าง ขณะเดียวกันได้ประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ รวมทั้งได้ประชุมหารือเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนพื้นที่รอยต่อ
ส่วนการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง กทม. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ หรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนเพื่อเฝ้าระวังและเตรียมการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและปลั๊กไฟ พร้อมตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้มีความสูงและมีความแข็งแรง จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำรับทราบสถานการณ์น้ำขึ้นลงตามตารางน้ำขึ้น-น้ำลงของกรมอุทกศาสตร์ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง เป็นต้น
ขณะเดียวกันในส่วนของแนวฟันหลอ กทม. ได้จัดเจ้าหน้าที่เรียงกระสอบทรายเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำและความมั่งคงแข็งแรงแล้ว เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนน้ำท่วมพบจุดที่มีปัญหารวม 120 แห่ง ได้ก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมโดยจะแก้ไขถาวรได้ทันในฤดูน้ำหลากนี้ได้ 64 แห่ง และเรียงกระสอบทรายป้องกันในบริเวณที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้ กทม. ได้เปิดช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ ตลอดจนช่องทางแจ้งเหตุเพื่อขอรับความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ https://dds.bangkok.go.th./, https://pr-bangkok.com/, Facebook : @BKK.BEST และ X(Twitter) : @BKK_BEST รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 02 248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue
ที่มา: กรุงเทพมหานคร