โครงการดิจิทัลบัสครั้งนี้ถือเป็นการร่วมมือระหว่างหัวเว่ย ประเทศไทย กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนค็อกนิสไทยฯ จังหวัดสกลนคร ซึ่งถือว่าศูนย์การศึกษาในพื้นที่ห่างไกล รองรับนักเรียนจาก 9 พื้นที่เขตหมู่บ้าน ทั้งหมด 262 คน ตั้งแต่ระดับการศึกษาชั้นอนุบาล 1 จนถึงประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 โดยการจัดโครงการดิจิทัลบัสร่วมกับโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ครั้งนี้ได้มีการปรับเนื้อหาหลักสูตรให้มุ่งเน้นเรื่องการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการนำเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทย โดยเฉพาะเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล
หัวเว่ยได้จัดโครงการดิจิทัลบัสผ่านการร่วมมือกับโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เพื่อนำความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาให้เยาวชนได้ประยุกต์ใช้กับความรู้จากสถาบันการศึกษา ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และวัฒนธรรมในพื้นที่ห่างไกล จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เราพบว่าประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลยังเป็นปัญหาที่พบได้ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงพื้นที่ห่างไกลในไทยซึ่งมีการพัฒนาและขยายตัวทางเทคโนโลยีค่อนข้างต่ำ ทำให้เกิดช่องว่างในการเข้าถึงองค์ความรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล
ทั้งนี้ หัวเว่ยตั้งเป้าหมายฝึกอบรมนักเรียนและบุคลากรในประเทศไทยจำนวน 2,000 คน ผ่านโครงการดิจิทัลบัส ในปี 2567 ครอบคลุมในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ นครพนม กระบี่ กาญจนบุรี ชัยภูมิ นครนายก และระยอง โดยโครงการในจังหวัดนครนายกและระยองเป็นความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยกับองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO และเป็นการต่อยอดจากโครงการที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2566 โดยในปีนี้ หัวเว่ยยังได้ปรับหลักสูตรดิจิทัลบัสให้เข้ากับโรงเรียนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เช่น การสร้างความตระหนักรู้เรื่องการนำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้ภาคการเกษตร การนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาเกษตรกรรมในครัวเรือนให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการมอบความรู้เรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนในการป้องกันภัยที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์
ดร.อภิสิทธิ์ พึ่งพร ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้กล่าวถึงโครงการดิจิทัลบัสของหัวเว่ยว่า "ผมต้องขอขอบคุณหัวเว่ยที่ให้การสนับสนุนเยาวชนและบุคลากรในประเทศไทยด้วยการส่งมอบองค์ความรู้ดิจิทัลผ่านโครงการดิจิทัลบัสมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในครั้งนี้ยังเสริมด้วยกิจกรรมสันทนาการให้แก่เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 การมอบอาหารกลางวัน ร่วมปลูกต้นไม้ ปรับแต่งทัศนียภาพสถานศึกษา เป็นต้น โครงการดิจิทัลบัสถือเป็นโครงการที่สร้างแรงบันดาลใจที่ดี รวมทั้งช่วยสร้างโอกาสและสร้างความฝันให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทย"
ตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โครงการดิจิทัลบัสของหัวเว่ยได้ให้การฝึกอบรมองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่นักเรียนช่วงชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่พาณิชย์จังหวัด แพทย์อาสา และแรงงานท้องถิ่นรวมแล้วกว่า 4,500 คน ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี สงขลา พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ นครราชสีมา พิจิตร พะเยา กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช และนครนายก
นอกจากนี้หัวเว่ยยังมีโครงการให้การสนับสนุนด้านการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ร่วมมือกับโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนโครงการส่วนพระองค์ฯ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนอุปกรณ์หน้าจออัจฉริยะ Ideahub จำนวน 24 เครื่องให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สุขศาลาพระราชทานทั่วประเทศไทย ตลอดจนโครงการนำร่อง Huawei Smart PV solution สนับสนุนโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหม่องกั๊วะ จังหวัดตาก เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงไฟฟ้าและการเรียนการสอนผ่านห้องเรียนดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการดิจิทัลบัสถือเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจ "เติบโตพร้อมกับประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย" ของหัวเว่ย ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางดิจิทัลผ่านภารกิจของหัวเว่ยเรื่อง 'นำทุกฝ่ายก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง' (Lead Everyone Forward, Leave No One Behind)
ที่มา: คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์