งานนี้เป็นความตั้งใจของ คุณมาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้ง 'บางกอก คุนส์ฮาเลอ (BANGKOK KUNSTHALLE)' พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและงานศิลปะแห่งใหม่ รวมถึงโครงการเชฟแคร์ส (Chef Cares) และวิสาหกิจเพื่อสังคมเชฟแคร์ส ภรรยาคนสวยที่ชวนสามี คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือซีพี มาบอกเล่าความสำคัญของ โครงการส่งเสริมวัฒนธรรมอาหาร โดยมูลนิธิเชฟแคร์ส ผ่านมื้ออาหารสุดพิเศษที่ว่า
ซึ่ง เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ จาก Samuay & Sons หนึ่งในเชฟผู้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารฯ ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะเจ้าตัวครีเอตเมนูอาหารผ่านการชมงานศิลป์ 'nostalgia for unity' โดยกลั่นความหมายของศิลปะจนได้ใจหลักคือ 'Reborn' หรือ 'เกิดขึ้นใหม่' สอดคล้องไปกับ 'นกฟีนิกซ์' หนึ่งในสัญลักษณ์อุปมาอุปไมยสำคัญ ตัวแทนแห่งความเป็นนิรันดร์เพราะสามารถฟื้นคืนชีพจากการดับสูญได้ด้วยตัวเองที่ศิลปินกรกฤตถ่ายทอดไว้ในนิทรรศการ จนกลายเป็นอาหารอีสานร่วมสมัยเมนูใหม่ที่น่าสนใจถึง 4 คอร์สด้วยกัน
เริ่มต้นด้วยเมนูแอพพิไทเซอร์เปิดการรับรสเป็น 'แจ่วมะเขือเทศกับเห็ดโคนน้อยตามฤดูกาล เสิร์ฟพร้อมสมุนไพรหลังบ้านภูมิปัญญาดั้งเดิม' ตามมาด้วย 'ขนมเบื้องญวนประยุกต์แนมด้วยแตงกวาป่ากับพริกกะเหรี่ยงเผา' ส่วนเมนคอร์สเชฟหนุ่มรังสรรค์เป็นเมนู 'หลามปลา' จัดเสิร์ฟมาในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งเป็นรูปแบบการทำอาหารของคนอีสานในอดีต วัตถุดิบคือปลาแม่น้ำโขงโขลกเข้ากับเครื่องแกงเผ็ดร้อนกลิ่นหอมจรุงใจ แล้วใส่ในกระบอกไม้ไผ่ก่อนนำไปเผาจนมีกลิ่นหอมของฟืน เสิร์ฟมากับ 'ข้าวคลุกมันปูน้อยจากลำธาร" และตัดรสให้ลงตัวด้วยเมนู 'ส้มตำป่าเคล้ากับกระชาย'
ทั้งรูปลักษณ์และรสชาติของอาหาร ล้วนสร้างประสบการณ์ใหม่และสร้างความประทับใจไว้ในคราวเดียวกันให้กับคุณมาริษาและคุณสุภกิต รวมถึงแขกผู้มีเกียรติท่านอื่น ๆ ที่ได้ละเลียดลิ้มรส
ส่วนใครที่ว้าว! กับอาหารอีสานร่วมสมัยเซ็ตนี้ และอยากรู้จุดกำเนิดของการรังสรรค์ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ชวนมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่กับการรับชมนิทรรศการ 'nostalgia for unity' ผลงานจิตรกรรม ภาพยนตร์ เวที และบทหนัง ของกรกฤต อรุณานนท์ชัย ที่ใช้พื้นที่เว้นว่าง (Negative Space) เป็นสื่อสำคัญในการกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงการไม่มีอยู่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ บางกอก คุนส์ฮาเลอ ระหว่างเวลา 14.00 - 20.00 น. จนถึง 31 ตุลาคม 2567 (ปิดทุกวันจันทร์และวันอังคาร) ติดตามข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก BangkokKunsthalle และอินสตาแกรม Bangkok_kunsthalle
ที่มา: fyi bangkok