ศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าขับเคลื่อนจุฬาฯ ตอบโจทย์สังคมสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้จุฬาฯ เป็นผู้นำแห่ง AI University ของไทย และเป็น AI Hub ของ Southeast Asia
ในการนี้ ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ผู้รักษาการรองอธิการบดีด้านวิชาการ สื่อสาร และนิสิตเก่าสัมพันธ์ พร้อมด้วย ผศ.ทพ.ดร.ศุภชัย ชื่นจิตรวงษา และ อ.นพ.วรพล จรูญวณิชกุล ผู้รักษาการผู้ช่วยอธิการบดีได้ร่วมกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติด้านปัญญาประดิษฐ์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ เตรียมการมุ่งหน้าขับเคลื่อนนโยบาย AI University ในหลากหลายมิติ เช่น AI Foundation and Technology, AI Education, AI Solution และ AI Industry Impact and Ethics AI Governance AI in Business and Economics พร้อมกำหนดกลยุทธ์พันธมิตร AI ระดับนานาชาติ
ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวว่า "จุดเด่นของการเร่งตั้งสถาบันปัญญาประดิษฐ์แห่งจุฬาฯ คือการมุ่งเน้นกลไกการสนับสนุนกลไกที่ตอบโจทย์ท้องถิ่นในมาตรฐานนานาชาติ และสนับสนุนให้นิสิตได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา AI ที่ฉลาดในการสื่อสาร การลงทุน Large Language Model (LLM) ด้านการศึกษา ที่ประกอบด้วยความรู้ทุกด้านในระดับ higher education และระบบที่ใช้สอนภาษาอังกฤษให้คนไทย ทั้งนี้เพื่อให้จุฬาฯ เป็น AI University ที่มีความเชี่ยวชาญสูงและสามารถตอบโจทย์สังคม และตอกย้ำการเป็น AI Hub ของภูมิภาคอาเซียน"
ศ.ดร.ปาริชาต เสริมว่า "จุฬาฯ มีความพร้อมสูง เนื่องจากมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ได้รับการยอมรับอย่างยิ่งทั้งในระดับชาติและนานาชาติ นำโดย รศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา อาทิ ผศ.ดร.เอกพล ช่วงสุวนิช รศ.ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์ รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ รศ. ดร.อติวงศ์ สุชาโต รศ.ดร.พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ อ.ดร.สิระ ศรีสวัสดิ์ ผศ. ดร.ฑิตยา หวานวารี และ รศ.ดร.วรประภา นาควัชระ เป็นต้น โดยทีมดังกล่าวจะเป็นกลุ่มนำที่ขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างชัดเจนภายในสองเดือนนี้เพื่อเตรียมต่อยอดสู่ประโยชน์ที่ลึกซึ้งของการพัฒนา AI ของไทยในสังคมนานาชาติ"
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ