นายธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช กล่าวว่า งานเปิดตัวโครงการและแพลตฟอร์ม "เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม" กิจกรรมโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนของกรุงเทพมหานคร (Road Safety Culture School) ในวันนี้จัดขึ้นเป็นปี 2 ภายใต้ โครงการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ประจำปี 2567 ซึ่งจัดโดยสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมนี้เป็นการรณรงค์ด้านความปลอดภัยทางถนน ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
"ด้านปลอดภัยดี" โดยปลูกฝังจิตสำนึกส่งเสริมการสร้างระเบียบกวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มงวด ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งปีที่ผ่านมากิจกรรมฯ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งโรงเรียน ภาคีเครือข่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งผู้ปกครอง และนักเรียน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎจราจรถูกต้องมากขึ้น ซึ่งในปีนี้จึงได้ต่อยอดความสำเร็จในระดับเด็กและเยาวชนสู่ครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน โดยมีแนวคิดหลักในการจัดกิจกรรมโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนของกรุงเทพมหานคร ปี 2 เพื่อสร้าง "คุณครูผู้พิทักษ์" และ "โรงเรียนติดดาว" ให้เป็น "ต้นแบบ" และ "ผู้ริเริ่ม" รักษ์วินัยจราจร
โดยรูปแบบกิจกรรมปีนี้เป็นการแข่งขันพิชิตตำแหน่ง "ครูผู้พิทักษ์ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน" และ "โรงเรียนติดดาว" กับกิจกรรมโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนของกรุงเทพมหานคร (Road Safety Culture School) ชิงรางวัลมูลค่ารวมมากกว่า 150,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตรและโล่รางวัล ซึ่งในวันนี้ เป็นการปฐมนิเทศกิจกรรมชี้แจงรายละเอียดและแจ้งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินของคณะกรรมการ ซึ่งตอนนี้ได้คัดเลือกโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จาก 6 กลุ่มเขต กลุ่มเขตละประมาณ 3 โรงเรียน รวมจำนวน 20 โรงเรียนต้นแบบ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม
ซึ่งจะเป็นคุณครู โรงเรียนละ 2 ท่าน โดยการแข่งขัน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เป็นกิจกรรมของโรงเรียน และส่วนที่ 2 เป็นกิจกรรมทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อสะสมแต้มคะแนน ส่วนเกณฑ์ในการพิจารณารางวัล จะแบ่งเป็นลักษณะผลงาน ผลการดำเนินกิจกรรม และความยั่งยืนในการดำเนินกิจกรรม เพื่อเฟ้นหาครูต้นแบบ ที่ใส่ใจความปลอดภัย รักษ์วินัยจราจร ให้เป็นต้นแบบด้านความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทางข้าม การสวมหมวกนิรภัย การขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งการแข่งขันจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ (13 มิถุนายน) ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 รวมระยะเวลาแข่งขันประมาณ 3 เดือน จากนั้นคณะกรรมการจะตัดสินตามเกณฑ์ที่กำหนด และคัดเข้ารอบ 10 โรงเรียนที่ได้คะแนนสูงสุด เพื่อลงตรวจประเมินผลงาน และตัดสินผู้ชนะพร้อมกำหนดพิธีมอบรางวัล Road Safety All Stars Day ช่วงประมาณเดือนตุลาคม 2567 นี้
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร เล็งเห็นถึงความสำคัญ และพร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนโดยมุ่งหวังสร้างจิตสำนึก ด้านความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งหวังว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะกลายเป็น "ต้นแบบ" เพื่อส่งต่อพฤติกรรมรักษ์วินัยจราจร จากเด็กสู่ผู้ใหญ่ เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็น "เมืองที่น่าอยู่" สำหรับทุกคน
ที่มา: ธีอ๊อกซีนี่ พีอาร์