วันที่ 12 มิถุนายน 2024 Times Higher Education (THE) สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกชื่อดัง จากประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ THE Impact Rankings ประจำปี 2024 โดยมีสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก เข้าร่วมการจัดอันดับจำนวน 2,152 แห่ง จาก 125 ประเทศทั่วโลก และสถาบันอุดมศึกษาไทยเข้ารับการจัดอันดับทั้งสิ้น 77 แห่ง
ผลปรากฎว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดอยู่ในอันดับที่ 101-200 ของโลก เป็นอันดับที่ 5 ร่วมของประเทศไทย ถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดเท่าที่เคยได้รับการจัดอันดับในด้านนี้ ขยับดีขึ้นจากอันดับที่ 401-600 ในปีที่ผ่านมา และมีผลงานที่โดดเด่นตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ SDG ที่ติดอันดับ Top 100 ของโลก จำนวน 6 เป้าหมาย ได้แก่ SDG2 , SDG4, SDG6, SDG11, SDG14 และ SDG17
หากดูอันดับในส่วนของ SDG 6 - Clean Water and Sanitation (การจัดการน้ำและสุขาภิบาล) พบว่า อยู่ในอันดับที่ 55 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของไทย , SDG14 - Life Below Water (ทรัพยากรทางทะเล) อยู่อันดับที่ 31 ของโลก อันดับที่ 2 ของไทย ดีขึ้นกว่า 27 อันดับเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา , SDG11 - Sustainable cities and Communities (เมืองและการสังคมมนุษย์ที่มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน) อยู่ในอันดับที่ 63 ของโลก เป็นอันดับ 2 ของไทย ขยับขึ้นจากปีที่ผ่านมา 36 อันดับ
ส่วน SDG17 - Partnerships for the Goals (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) และ SDG4 - Quality Education (คุณภาพการศึกษา) ซึ่งสามารถทำคะแนนติด Top 100 ของโลกเป็นครั้งแรก อยู่ในอันดับที่ 81, 85 ของโลกตามลำดับ เป็นอันดับที่ 4 ของไทย และ SDG 2 - Zero Hunger (ขจัดความหิวโหย) อยู่ในอันดับ 91 ของโลก อันดับที่ 5 ของไทย
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามกรอบขององค์การสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก THE Impact Rankings 2024 ที่ออกมาเป็นที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นในเชิงประจักษ์ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีผลงานที่โดดเด่นได้รับการยอมรับระดับสากล ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่รับผิดชอบต่อสังคมและพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
"ความสำเร็จในครั้งนี้มาจากการมุ่งมั่นทุ่มเททำงานกันอย่างเข้มข้นของพวกเราทุกคน ขอขอบคุณคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษาทุกคนที่ร่วมกันขับเคลื่อนและเชื่อว่าในอนาคตมหาวิทยาลัยจะได้รับการจัดอันดับโลกที่ดีขึ้น" ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว
สำหรับการจัดอันดับดังกล่าวมีการประเมินตัวชี้วัดโดยแบ่งเป็น 4 ขอบเขตหลัก คือ 1) งานวิจัยในฐานข้อมูล Scopus ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน 2) นโยบายและแนวทางปฏิบัติความยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัย 3) การบริการวิชาการเชื่อมโยงกับสังคมไทยและสังคมโลก รวมทั้ง 4) การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกฝังแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา: มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์