ทั้งนี้ โรงพยาบาลสังกัด กทม. ที่มีบริการคลินิกจิตเวช มีจำนวน 9 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลนคราภิบาล (โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร) โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน มีจิตแพทย์ 12 คน นักจิตวิทยา 15 คน ซึ่งไม่เพียงพอเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนผู้ป่วยจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล รวมถึงเมื่อพบผู้มีอาการทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้าน หรือผู้เสพยาเสพติดแล้วไม่สามารถส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัด กทม. อาจทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม กทม. ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพของประชาชน จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น โดยจัดบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตแก่ประชาชนที่โรงพยาบาลของสำนักการแพทย์ กทม. และที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. สำนักอนามัย เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจที่พร้อมจะเผชิญปัญหาในการดำเนินชีวิต เพื่อลดความเจ็บป่วยทั้งทางกายและจิตใจ และไม่แก้ไขปัญหาด้วยวิธีรุนแรง สำหรับบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตที่ กทม. จัดให้แก่ประชาชน ประกอบด้วย (1) บริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่านสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง (2) เปิดให้บริการคลินิกจิตเวชในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง
ส่วนการให้บริการด้านจิตเวชของสำนักอนามัย กทม. ได้ตรวจประเมินคัดกรองด้านสุขภาพจิตเบื้องต้นในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ในวันและเวลาราชการ กรณีประเมินแล้วพบอาการรุนแรง มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จะนัดหมายเข้าคลินิกจิตเวชให้บริการตรวจรักษาจ่ายยาและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยจิตแพทย์ หรือส่งต่อโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชต่อไป นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเชิงป้องกัน สำนักอนามัย โดยศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ได้จัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขเฝ้าระวังประชาชนที่มีอาการซึมเศร้า โดยแจ้งผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เพื่อประเมินสุขภาพจิตและให้การช่วยเหลือ และพัฒนาระบบการประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเองผ่าน QR code ซึ่งประชาชนจะทราบผลการประเมินและสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ พร้อมทั้งออกให้บริการหน่วยเคลื่อนที่ เพื่อดูแลสุขภาพเชิงรุกในชุมชนและสถานประกอบการที่แจ้งเข้ามา รวมถึงให้ความรู้การประเมินโรคซึมเศร้า ให้คำปรึกษา ติดตามดูแลช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง และส่งต่อหากอาการไม่ดีขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีคุณค่าในอัตราที่พอเหมาะ พักผ่อนให้พอเพียง เลี่ยงพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้านและที่ทำงานให้สะอาดน่าอยู่ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางใจและทางกาย เป็นต้น
ที่มา: กรุงเทพมหานคร