ปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อนใหม่วัยเก๋า

อังคาร ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๗ ๑๔:๒๑
ในปัจจุบันจำนวนประชากรในกลุ่มผู้สูงวัยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในอนาคตจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า สังคมสูงวัย ซึ่งมีโอกาสที่จะกลายไปเป็นวิกฤตในระดับโลก เนื่องจากปัญหาอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงอย่างมาก และดูเหมือนแนวโน้มจะน้อยลงอย่างต่อเนื่อง และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้มีการคาดการณ์เอาไว้ว่า ในปี ค.ศ. 2030 ประชากร 1 ใน 6 ของโลกจะเป็นประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และในจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าในปี ค.ศ. 2050 นอกจากนี้ประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 2 ใน 3 จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางหรือประเทศกำลังพัฒนาที่รวมถึงประเทศไทยด้วย
ปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อนใหม่วัยเก๋า

เมื่อกล่าวถึง"ผู้สูงวัย" หรือ "สังคมสูงวัย" หลาย ๆ คนอาจจะคิดและมองภาพผู้สูงวัยเหล่านั้นในแง่ลบ เช่น คนที่เกษียณอายุไปแล้ว ไม่มีรายได้ เจ็บป่วย ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือไม่มีศักยภาพที่สามารถทำงานต่อได้ ซึ่งความคิดนี้เป็นการเข้าใจที่ผิดอย่างร้ายแรง มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ต้องการและมีความสามารถที่จะทำงานต่อ แต่ต้องถูกให้เกษียณอายุและหยุดทำงานโดยไม่สมัครใจ งานวิจัยของ Bonsang and Klein ในปี ค.ศ. 2012 ระบุว่าการเกษียณอายุโดยไม่สมัครใจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนสูงอายุจำนวนไม่น้อยประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิต สาเหตุสำคัญเป็นเพราะว่าผู้ที่เกษียณอายุโดยไม่สมัครใจยังต้องการสร้างรายได้ให้มากกว่านี้ก่อนเกษียณ การเกษียณอายุโดยไม่สมัครใจจึงไม่ต่างอะไรกับการ "ถูกบังคับให้ตกงาน"

อย่างไรก็ตามแทนที่เราจะมองว่าการมีผู้สูงวัยเป็นจำนวนมากในประเทศเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ บทความนี้จึงอยากนำเสนอแนวคิดใหม่ที่ผู้สูงวัยสามารถเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ หากประเทศมีการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมที่เหมาะสม

จากที่ รองศาสตราจารย์ ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุนผู้สูงอายุในการทำงานไว้บนเวที TED 2023: Possibility "Leaping Boldly into New Global Realities" อุปสรรคของผู้สูงอายุที่มีผลต่อการทำงานมีหลัก ๆ อยู่ 3 อย่าง

อย่างแรกคือ อุปสรรคทางด้านร่างกาย สภาพร่างกายที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน ใช้แรงเยอะไม่ได้ ยกของหนักไม่ได้ หรือการต้องยืน นั่ง นาน ๆ ซึ่งเรื่องพวกนี้สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขได้ เช่นการใช้เครื่องจักรในการช่วยยกของแทน หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงการยืนเดินเวลาที่ต้องยืนเดินนาน ๆ

อย่างที่สองคือ อุปสรรคทางด้านการเดินทางไปทำงาน การเดินทางมาทำงานที่ใช้เวลานาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องระยะทางหรือรถติดก็ตาม ล้วนเป็นอุปสรรคสำหรับทุก ๆ คน ที่ต้องไปทำงานทั้งสิ้น แต่สำหรับผู้สูงอายุนั้น ปัญหาเรื่องนี้เป็นอุปสรรคที่มีความรุนแรงมากกว่าหลายเท่า ไม่ว่าจะสภาพร่างกายที่อาจจะนั่งรถนาน ๆ ไม่ไหว หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวย ในปัจจุบันเทคโนโลยี Remote Working ได้พัฒนาไปมาก พิสูจน์ได้จากช่วงเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิด - 19 ดังนั้นการปรับความเชื่อที่ว่าผู้สูงอายุหรือคนที่เกษียณไปแล้วไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้มาเป็นความเชื่อที่เน้นการนำเทคโนโลยี อย่างเช่น เทคโนโลยี Remote Working มาใช้ จะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุกลับมาทำงานได้จำนวนไม่น้อย

และสุดท้ายคือ อุปสรรคทางสมอง ทางความจำ โดยผู้สูงอายุอาจจะเรียนรู้หรือจำเรื่องใหม่ ๆ ได้ไม่รวดเร็วเท่ากับคนรุ่นใหม่ แต่ผู้สูงอายุยังคงมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่เยอะกว่า ทำไมเราไม่ลองใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจำหรือช่วยแนะนำวิธีการทำงาน เพื่อให้ผู้สูงวัย ได้โฟกัสไปที่การใช้ทักษะและประสบการณ์ทางด้าน อื่น ๆ ในการทำงานแทน

โดยในบทความนี้ผู้เขียนจะเน้นบทบาทของเทคโนโลยีประเภทหนึ่ง ที่ผู้เขียนขอเรียกว่า Cognitive augmentation technology หรือ "AI เพื่อนใหม่ (ทางสมอง) ของวัยเก๋า"

Cognitive augmentation technology เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมในด้านความรู้ความเข้าใจ ที่เข้ามามีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องงานและชีวิตประจำวันในหลาย ๆ ด้าน อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าหนึ่งในพลังที่ผู้สูงอายุมีมากกว่ากลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่คือเรื่องของความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ รวมถึงความชำนาญที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน หากมีการใช้เทคโนโลยีด้าน Cognitive เพื่อส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุก็จะยิ่งเป็นการทำให้พลังในด้านนี้ของผู้สูงอายุเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่จัดเป็น cognitive augmentation ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของ Artificial Intelligence หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า AI

มีหลายคนให้คำนิยาม AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ แตกต่างกัน Alan Turing ผู้บุกเบิกวงการ AI ได้ให้คำนิยามของปัญญาประดิษฐ์ไว้ว่า "ปัญญาประดิษฐ์ คือศาสตร์แห่งวิศวกรรมในการสร้างคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ โดยเฉพาะการสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถวางแผน หาเหตุผล เรียนรู้ รับรู้ และสร้างมุมมองความรู้ และสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติ"
McKinsey & Company ได้ให้นิยามไว้ว่า "AI คือ ความสามารถของเครื่องจักรในการแสดงออกถึงสติปัญญาเหมือนมนุษย์ เช่น ความสามารถในการแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องอาศัยซอฟต์แวร์ที่ถูกเขียนขึ้นอย่างละเอียด แต่เรียนรู้การแก้ไขปัญหาจากการหารูปแบบภายใต้ข้อมูลจำนวนมาก" ซึ่งในปัจจุบัน AI ได้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นการช่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือ AI ช่วยถามตอบปัญหา ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอแนวคิดที่สามารถนำ AI เข้ามาช่วยเหลือผู้สูงอายุได้ในหลาย ๆ ด้านดังต่อไปนี้

แนวคิดแรกคือ AI Information Companion หรือเพื่อนคู่คิดด้านข้อมูล

โดยอาจจะเป็น AI ถามตอบง่ายๆที่คอยตอบคำถามในด้านที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่เราสงสัย การที่มี AI เข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดให้ผู้สูงอายุถามคำถามและช่วยแก้ไขปัญหาได้ในทันทีจึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ AI ที่เป็น AI information companion ยังสามารถให้คำแนะนำและแนวทางในการเข้าถึงข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การแนะนำการอ่านหนังสือหรือบทความที่เกี่ยวข้องกับความสนใจ หรือแนะนำการอ่านข่าวสารที่เกี่ยวกับสุขภาพและการออกกำลังกายที่เหมาะสม ข้อดีของ AI ตัวนี้ในมุมมองของผู้สูงอายุคือ สามารถแก้ไขเรื่องที่ผู้สูงอายุตามเทคโนโลยีไม่ทัน หรือใช้เทคโนโลยีบางประเภทไม่เป็น และ สามารถแก้ปัญหาที่บางคนอาจจะมีความกลัวหรือเกรงใจที่จะถามผู้อื่นได้

แนวคิดที่สองคือ AI Tutor หรือการมี AI เป็นผู้ช่วยในการเรียน

แม้ว่าในปัจจุบัน การเรียนโดยมี Tutor (ที่เป็นคนจริง ๆ) สามารถทำได้ง่ายมากขึ้นจากการเรียนผ่านระบบ online อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนจากการใช้ Tutor ที่เป็นคนจริงๆ มาเป็น AI แทน ข้อดีคือ ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวในการเรียนรู้ โดยที่บางคนอาจจะมีความเกรงใจหรือมีความกลัวที่จะถามคนจริง ๆ นอกจากนี้ เนื่องจากเทคโนโลยี AI Tutor มีความสามารถในการปรับรูปแบบการเรียนและคำแนะนำที่ปรับตามความต้องการและสถานะการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องเข้ากับวิธีการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล รวมทั้งการให้ AI ได้เรียนรู้จากแหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพหลายๆแหล่ง ทำให้คุณภาพของเนื้อหาที่เรียนจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก ตัวอย่างเช่น AI Khanmigo ของทาง Khan Academy ที่ถูกออกแบบมาให้เป็น AI Tutor มีหน้าที่ตอบคำถามที่ผู้เรียนสงสัย แต่แทนที่จะให้คำตอบกับผู้ถามไปตรง ๆ เลย AI Khanmigo จะใช้วิธีค่อยๆแนะนำวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจไปพร้อมกับการเฉลยปัญหานั้น ๆ

แนวคิดที่สาม คือ AI Coach หรือโค้ชเสมือนจริง

ผู้สูงอายุหลายๆคนอาจจะมีปัญหาเรื่องขี้หลงขี้ลืม ถ้ามีโค้ชซักคนคอยช่วยให้คำแนะนำในด้านการดูแลสุขภาพ ช่วยเตือนเรื่องการใช้จ่ายเงิน การพัฒนาตนเอง ก็คงจะดีไม่น้อย เป็นการเพิ่มพลังทางจิตใจ เพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ช่วยผลักดันให้ผู้สูงวัยสามารถเปลี่ยนแนวคิดที่จากเดิมอาจจะไม่อยากพัฒนาตนเองแล้วเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุที่จะเกษียณ เพื่อให้ผู้สูงวัยนั้นได้เป็นผู้สูงวัยที่ทรงพลัง ตัวอย่างเช่น Start up ที่ชื่อว่า CarePredict ที่ก่อตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในการติดตามพฤติกรรมของผู้สูงอายุในด้านความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน และทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของผู้สูงอายุท่านอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบและแจ้งเตือนว่ามีพฤติกรรมใดที่ผิดไปจากปกติหรือไม่

แนวคิดสุดท้ายคือ AI Life Companion ผู้ช่วยทางด้านจิตใจ

จากปัญหาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุจากสาเหตุที่คิดว่าตนเองไร้ค่า เบื่อหน่ายกับชีวิตประจำวัน จนนำไปสู่ปัญหาที่หลายๆประเทศกำลังเผชิญ การใช้ AI ที่เป็นผู้ช่วยทางด้านจิตใจไม่เพียงแต่อยู่ในเรื่องของการช่วยดูแลร่างกายของผู้ใช้ แต่ยังเป็นผู้ช่วยทางจิตใจที่สามารถเสนอคำปรึกษา คำแนะนำ และการสนับสนุนในเรื่องของสุขภาพจิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาที่ผู้สูงอายุรู้สึกเหงา โดดเดียว หรือเครียด เช่นการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หรือการที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่มีเพื่อนพูดคุยด้วย ไม่มีการเข้าสังคม

หลาย ๆ คนเมื่อพูดถึงเทคโนโลยี AI มักจะคิดภาพว่าเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการทำงานของกลุ่มคนหนุ่มสาวหรือวัยทำงาน ทั้งที่จริง ๆ แล้วพลังของกลุ่มคนสูงอายุนั้นจะไม่ได้เน้นไปที่ทาง physical หรือทางกายภาพ แต่ผู้สูงอายุจะมีความรู้และความเข้าใจในด้านสติปัญญา (บางด้าน) ที่มากขึ้นตามอายุ ไม่ได้ถดถอยไปเหมือนสภาพร่างกาย

ในอนาคตผู้สูงวัยทั่วโลกจะมีจำนวนมากขึ้นกว่านี้ หากเรามีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาคนกลุ่มนี้ โดยให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการให้ความรู้ที่มากพอ ผู้สูงอายุก็จะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยจะเป็นทรัพยากรที่มีทั้งความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ อยากให้ทุกคนลองมาช่วยกันคิดใหม่เรื่องที่อยากให้ผู้สูงอายุหยุดทำงาน และอยู่บ้านเฉย ๆ เปลี่ยนมาเป็นสนับสนุนให้ผู้สูงอายุลองใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน เพื่อให้การก้าวไปสู่สังคมสูงวัยเป็นการก้าวสู่สังคมสูงวัยที่ทรงพลัง ที่สามารถทำให้ผู้สูงวัยเป็นกำลังพลที่สำคัญ ทั้งยังสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเราได้ต่อไป

ที่มา: สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ