สภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) เผยรายงานผลการสำรวจข้อมูลจากธนาคารกลางทั่วโลก พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าสี่ในห้าของผู้ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่าผู้จัดการด้านทุนสำรองจะยังคงเพิ่มปริมาณการถือครองทองคำของตนเองต่อไปในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่สภาทองคำโลกได้เริ่มทำการสำรวจประจำปี
จากรายงานผลการสำรวจด้านทองคำสำรองของธนาคารกลาง ประจำปี 2567 (2024 Central Bank Gold Reserves Survey: CBGR) ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากธนาคารกลางทั่วโลกถึง 70 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเท่าที่เคยมีมา พบว่าธนาคารกลางเกือบ 30% มีแผนที่จะเพิ่มทองคำสำรองของตนเองภายในปีหน้า แสดงให้เห็นถึงมุมมองเชิงบวกต่อทองคำจากผู้จัดการด้านทุนสำรองยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าธนาคารกลางได้ซื้อทองคำสูงเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันถึงสองปีแล้วก็ตาม? และราคาทองคำได้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดหลายครั้งในปี 2567
ข้อมูลจากรายงานยังระบุว่าผู้จัดการด้านทุนสำรองได้หันมามองทองคำเพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลกในอนาคต แม้ว่าผู้จัดการด้านทุนสำรองจำนวนเจ็ดในสิบยังคงมองว่าแนวทางการดำเนินงานที่เคยมีมาในอดีต (Legacy) เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ถือครองทองคำ (71%) แต่ผลการสำรวจปีนี้พบว่าเหตุผลด้านอื่น ๆ ได้เพิ่มความสำคัญมากยิ่งกว่า โดยเหตุผลในการถือครองทองคำสามอันดับแรกได้แก่ มูลค่าระยะยาวของทองคำ (88%) ผลการดำเนินงานของทองคำในช่วงวิกฤต (82%) และบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์กระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ (76%)
นายเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางทั่วโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า "แรงกดดันจากตลาดที่ผันผวน ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั่วโลก ทำให้ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความสนใจจากธนาคารกลางหลายแห่งเป็นอันดับต้น ๆ สถาบันเหล่านี้ตระหนักถึงมูลค่าของสินทรัพย์ทองคำในการบริหารความเสี่ยงและกระจายพอร์ตการลงทุนมากขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าความต้องการทองคำจากภาครัฐในช่วงสองปีที่ผ่านมาจะสูงเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้น แต่ผู้จัดการด้านทุนสำรองจำนวนมากยังคงมีความสนใจในทองคำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจัยต่าง ๆ เช่น ราคา อาจทำให้การซื้อชะลอตัวลงชั่วคราวในระยะอันใกล้นี้ แต่แนวโน้มโดยรวมยังคงดังเดิม เนื่องจากผู้จัดการของธนาคารต่าง ๆ ตระหนักดีถึงบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ เพื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
สภาทองคำโลกพบว่าธนาคารกลางในประเทศตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (Emerging Market and Development economies: EMDE) ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อปริมาณส่วนแบ่งของทองคำในพอร์ตกองทุนสำรองในอนาคต นอกจากนี้ ยังพบว่าธนาคารกลางของเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วในปัจจุบันก็ได้มีมุมมองเชิงบวกต่อทองคำมากขึ้นเช่นกัน โดยมากกว่าครึ่งหนึ่ง (57%) ของผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่มนี้ระบุว่าทองคำจะมีสัดส่วนที่สูงขึ้นในทุนสำรองภายในห้าปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผลสำรวจในปี 2566 (เมื่อมีเพียง 38% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีมุมมองดังกล่าว)?
ธนาคารกลางของเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วยังมีมุมมองเชิงลบมากขึ้นต่อสัดส่วนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในเงินทุนสำรอง ซึ่งเป็นแนวคิดที่เห็นได้ชัดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มากกว่าครึ่งหนึ่ง (56%) ของผู้ตอบแบบสอบถามจากกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วเชื่อว่าสัดส่วนทุนสำรองที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกจะลดลง (โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนหน้า) ในขณะที่ 64% ของผู้ตอบแบบสอบถามจากกลุ่มตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนาก็มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ goldhub.org
ที่มา: โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย)