รองศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารแพลนต์เบส (Plant-based) ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และมีจำหน่ายหลากหลายออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น แต่การควบคุมและกำกับดูแลเพื่อขออนุญาตผลิตภัณฑ์ฯ ยังไม่มีเกณฑ์เฉพาะที่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนานวัตกรรมอาหารกลุ่มแพลนต์เบส ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัย สถาบันโภชนาการได้ทำการศึกษาหลักเกณฑ์ มาตรการ ที่เกี่ยวกับอาหารโปรตีนทางเลือก (alternative protein) ของประเทศต่าง ๆ ประกอบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเกณฑ์ข้อเสนอให้ อย.นำไปพิจารณาแนวทางควบคุม กำกับดูแลอาหารดังกล่าว การดำเนินการของโครงการได้ทบทวนแนวทางข้อกำหนด ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารแพลนต์เบส ที่ปัจจุบันในของหลายๆ ประเทศก็อยู่ระหว่างพัฒนาเช่นกัน เพื่อนำมาเป็นแนวทางปรับใช้เป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย การกำหนดขอบข่าย (นิยามศัพท์) เพื่อสะดวกต่อจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเพลนต์เบสซึ่งจะเกี่ยวโยงไปถึงการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย
โดยเฉพาะด้านการอนุญาตใช้วัตถุเจือปนอาหารและการตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อน คำอนุญาตให้ใช้ในการกล่าวอ้างบนฉลากผลิตภัณฑ์ และคุณภาพด้านโภชนาการเบื้องต้นมีการเสนอข้อคิดเห็นให้แบ่งกลุ่มอาหารแพลนต์เบส ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม "อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-base Protein)" หมายถึง โปรตีนที่ได้จากการนำพืช จุลินทรีย์ และสาหร่ายที่บริโภคได้ มาสกัดแยกโปรตีน แล้วเป็นผง ทำให้เข้มข้น หรือขึ้นรูปใหม่ โดยกำหนดปริมาณโปรตีน ตั้งแต่หรือมากกว่าร้อยละ 40 ของน้ำหนักแห้ง และกลุ่ม "อาหารจากพืช (Plant-base Food)" หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งใช้วัตถุดิบหลักที่ทำจากพืช จุลินทรีย์ และสาหร่ายที่บริโภคได้ร้อยละ 90 เช่นเดียวกัน ไม่รวม วัตถุเจือปนอาหาร สารแต่งกลิ่นรส สารช่วยในกระบวนการผลิต น้ำและเกลือ
โดยทั้งนี้จะเรียกว่า "อาหารจากพืชที่มีโปรตีน"ได้สำหรับของเหลวที่มีปริมาณโปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของน้ำหนัก หรือของแข็งที่มีปริมาณโปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ระบุว่า สถาบันฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของอาหารแพลนต์เบส ซึ่งเป็นอาหารที่มีมูลค่าสูง และภาคอุตสาหกรรมเองก็มีความพร้อมในการพัฒนาสินค้า ทั้งนี้ ผลจากการนำเสนอข้อมูลและรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางให้กับ อย. นำไปประกอบการพิจารณาออกร่างประกาศเป็นนโยบายสำหรับกำกับดูแลผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารแพลนต์เบสต่อไป เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมี "คู่มือ" ใช้ประกอบการพัฒนานวัตกรรมอาหาร ลดทอนอุปสรรคในการขออนุญาตขึ้นทะเบียน และเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่มีความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางกระแสการดูแลสุขภาพยุคใหม่ มุ่งใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ที่มา: สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล