นายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีคุณภาพ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนากำลังคน นำองค์ความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนเปลงต่างๆที่เกิดขึ้น โดยปัจจุบันจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จาก Digital Disruption เป็นเหตุให้ธนาคารไทยพาณิชย์จำเป็นต้องเร่งปรับตัวลงทุนด้านการพัฒนาเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี
ทั้งนี้ ยังมีอีกเรื่องที่ธนาคารให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ การพัฒนาคนให้อยู่ได้ในโลกดิจิทัล ดังจะเห็นจากความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันที่มีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถด้านดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนธนาคารได้มีการวางรากฐานการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะ ดังนี้ 1) Future Essential Skills เช่น ทักษะการคิด Critical Thinking, Creative Thinking, Collaboration และ 2) Digital Skills เช่น ทักษะด้าน Data Science, Data Analytics, AI & Automation Technology, Digital Process & Service Design, รวมไปถึง Digital Communication และ Digital Security เพื่อ upskills พนักงานให้สอดรับกับการดำเนินกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ของธนาคาร โดยมีเป้าหมายการเป็นดิจิทัลแบงก์ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทางโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยพลังของดิจิทัลสร้างสรรค์ธุรกิจและบริการที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ธนาคารมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสจับมือกับสำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ เจเนเรชั่น ประเทศไทย ผ่านโครงการ 1 ล้านการเรียนรู้ 1 ล้านโอกาส เปิดประตูสู่อนาคตที่ยั่งยืนในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ซึ่งไม่เพียงแค่การสร้างโอกาสการจ้างงานรวมถึงพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อยอดให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ แต่ยังเป็นการร่วมกันผลักดัน พัฒนา และผลิตกำลังคนในสายงานดิจิทัลให้กับประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับศักยภาพภาคธนาคารและภาคธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี ประธานคณะกรรมการอำนวยการสำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า สำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรียินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาและบุคลากรทั่วไปในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดแรงงานในประเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเตรียมบุคลากรที่มีคุณภาพให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัล ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่เราจะได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญและวิสัยทัศน์เดียวกันในการพัฒนาบุคลากร โครงการ "1 ล้านการเรียนรู้ 1 ล้านโอกาส เปิดประตูสู่อนาคตที่ยั่งยืน" ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการฝึกอบรมบุคลากรในสายดิจิทัล แต่ยังเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่อให้พวกเขาสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในภาคธนาคารและภาคธุรกิจที่ต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เช่นผู้เชี่ยวชาญในการทดสอบและประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ (QA Tester) เป็นต้น
การพัฒนากำลังคนในสายดิจิทัลนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการให้ความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสในการจ้างงาน และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
นางสาวปุณยนุช พัธโนทัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กรเจเนเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า Generation Thailand มุ่งมั่นที่จะพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและธนาคาร เพื่อให้ผู้เรียนที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงงาน สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ปรับไปใช้ในการทำงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะโจทย์ของเราในทุกประเทศ คือ การปิดช่องว่างการศึกษาไปสู่การจ้างงาน เป็นเรื่องที่ท้าทาย การมีพาร์ทเนอร์ที่มีพันธกิจเดียวกันจึงสำคัญมาก ด้วยประสบการณ์การทำงานกับร่วมกับองค์กร Employer Partner ทั่วโลกอีก 12,000 แห่ง และผู้เรียนที่ผ่านโครงการกว่า 100,000 คน ใน 18 ประเทศ ความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ และสำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในครั้งนี้ จะช่วยทำให้อัตราความสำเร็จในการจ้างงานเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากหลักสูตร QA แล้ว Generation ยังมีหลักสูตรอาชีพในสาขาดิจิทัล อีกกว่า 10 หลักสูตร ที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาศึกษา วิเคราะห์ พัฒนาคนให้ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรอื่น ๆ ในประเทศ ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการ 1 ล้านการเรียนรู้ 1 ล้านโอกาส เปิดประตูสู่อนาคตที่ยั่งยืน เป็นโครงการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างโอกาสการจ้างงานผ่านการพัฒนาคนและธุรกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน และปัญหาขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัล จับกลุ่มนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย บัณฑิตจบใหม่ หรือคนที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานและคนวัยทำงาน เพื่อพัฒนาให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตร Junior Software Developer (JSD) โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ได้ 1,000 คนภายในระยะเวลา 3 ปี หรือ CapLab: 7 Step Model Bootcamp ช่วยให้ครูอาจารย์หรือผู้ที่ทำงานด้านพัฒนาคนสามารถออกแบบหลักสูตรพัฒนาให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการ 1 ล้านการเรียนรู้ 1 ล้านโอกาส เปิดประตูสู่อนาคตที่ยั่งยืน จะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 3 ของปี 2567 เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการในตลาดแรงงานที่เพิ่มมากขึ้นพร้อมเป็นฟันเฟืองสำคัญสู่อาชีพในอนาคต ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://kxinnovation.com/genkx-2/ หรือ https://www.facebook.com/genkxkmutt
ที่มา: ธนาคารไทยพาณิชย์