นายอเล็กซานเดอร์ ซานเชซ (Alexandre Sanchez) กรรมการผู้จัดการของแอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ ประเทศไทย และ พ.อ.(พ) วันชัย ประสานเสียง ผู้จัดการโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ช่างกล ขส.ทบ. ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยจัดขึ้นที่โรงเรียน ณ จังหวัดนนทบุรี
ภายใต้ข้อตกลงนี้ แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ในประเทศไทยจะมอบโอกาสการฝึกงานระยะสั้นให้กับนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือก โดยการฝึกงานนี้จะรวมการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และเตรียมความพร้อมในด้านอาชีพสำหรับช่างอากาศยาน โครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของรัฐบาล และมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรผู้มีความสามารถในสายงานให้กับผู้ผลิตอากาศยานจากทวีปยุโรป
โครงการฝึกงานนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนผ่านกิจกรรมออนไลน์และกิจกรรมในสถานที่จริง พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการหลักสูตรให้กับโรงเรียน
นอกจากนี้ คณะครูและบุคลากรจากโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ช่างกล ขส.ทบ. ยังจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรของโครงการ และมีโอกาสในการพัฒนาความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ
แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ได้เริ่มเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของวงการการบินในประเทศไทย ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 (ปี 2523-2532) โดยเริ่มต้นจากการสั่งซื้อเครื่องบินเอเอส 350 (AS350) ลำแรกโดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อนำมาใช้ในงานอเนกประสงค์และการลาดตระเวนทางอากาศ ตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมาได้มีเฮลิคอปเตอร์ที่ผลิตโดยแอร์บัสจำนวนมากเข้าปฏิบัติการและมีส่วนสำคัญต่อภารกิจทางทหารและงานบริการสาธารณะต่าง ๆ (Parapublic) ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศไทย โดยมีเฮลิคอปเตอร์มากกว่า 70 ลำที่ปฏิบัติการอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ยังมีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul: MRO) สำหรับเฮลิคอปเตอร์ระดับภูมิภาคตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อให้บริการกับลูกค้าในภูมิภาคนี้
ในด้านการใช้งานทางทหาร กองทัพบกไทยปัจจุบันใช้งานเฮลิคอปเตอร์รุ่น เอช125เอ็ม (H125M) สำหรับลาดตระเวนติดอาวุธ และเฮลิคอปเตอร์รุ่น เอช145/ลาโกต้า (H145/Lakota) สำหรับการใช้งานทั่วไปขนาดเบา ในขณะที่กองทัพอากาศไทยใช้งานเฮลิคอปเตอร์รุ่น เอช225เอ็ม (H225M) สำหรับภารกิจการค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ (Combat Search and Rescue: CSAR) และเฮลิคอปเตอร์รุ่น เอช135 (H135) สำหรับการฝึกนักบินขั้นสูง นอกจากนี้ กองทัพเรือไทยยังใช้เฮลิคอปเตอร์รุ่น เอช145เอ็ม (H145M) ในรุ่นสำหรับทางทหารเพื่อภารกิจลำเลียงและการสนับสนุนทางทะเล ในขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทยใช้เฮลิคอปเตอร์รุ่น เอช155 (H155) สำหรับการปฏิบัติภารกิจที่หลากหลาย
นายอเล็กซานเดอร์ ซานเชซ กล่าวว่า "ความร่วมมือกับโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ช่างกล ขส.ทบ. ครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของแอร์บัสในการฝึกอบรมภาคปฏิบัติที่ลงมือทำจริง ซึ่งช่วยให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นต่อความสำเร็จในฐานะช่างเครื่องอากาศยาน เรารู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถเหล่านี้ และมีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย"
ที่มา: โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย)