ลักษณะการทำลาย สังเกตได้จากร่องรอยเว้าแหว่งที่หนอนกัดกินใบ ก้าน รวมถึงท่อนพันธุ์ของมันสำปะหลังด้วย วิธีการป้องกันกำจัด เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังควรไถพรวนและตากดินก่อนปลูก เพื่อกำจัดดักแด้ที่อยู่ในดิน เมื่อเพาะปลูกแล้วให้หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบกลุ่มไข่และตัวหนอนให้เก็บทำลายทันที หากพบการทำลายจำนวนมากให้พ่นสารกำจัดแมลงตามคำแนะนำ เช่น คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% เอสซี (กลุ่ม 13) อัตรา 40 - 50 มิลลิลิตร หรืออินดอกซาคาร์บ 15% อีซี (กลุ่ม 22) อัตรา 30 มิลลิลิตร หรืออีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี (กลุ่ม 6) อัตรา 30 - 40 มิลลิลิตร หรืออีมาเมกตินเบนโซเอต 5% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัม (กลุ่ม 6) หรือสารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี (กลุ่ม 28) อัตรา 30 มิลลิลิตร โดยเลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่ง ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นห่างกันทุก 5 วัน ไม่เกิน 3 ครั้ง และให้เปลี่ยนกลุ่มสารโดยไม่พ่นซ้ำกลุ่มเดิมในรอบ 30 วัน เพื่อป้องกันการดื้อยา
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้หอมในไร่มันสำปะหลังต่อไปนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่เร่งด่วนเพื่อสำรวจผลการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช พร้อมให้คำแนะนำในการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอมแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างถูกต้องและทั่วถึง อันจะช่วยให้การควบคุมสถานการณ์เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบที่จะเกิดแก่เกษตรกรลงได้ อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำให้ผู้ปลูกมันสำปะหลังทุกพื้นที่หมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง หรือสามารถขอคำแนะนำได้ที่ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร