โครงการ Care the Whale ขยะล่องหน มีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยการบริหารจัดการขยะ โดยนำแนวคิด "ขยะล่องหน" มาใช้เพื่อกำจัดคำว่า "ขยะ" ให้หายไป โดยร่วมกันหาทางใช้ทรัพยากรให้ถึงที่สุด โดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้ เพื่อดูแลและจัดการขยะอย่างถูกต้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ขยะที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อน โดยเครือข่ายพันธมิตร มีเป้าหมายร่วมกันในเรื่อง Zero-waste to landfill
คุณกวินทร์ เอี่ยมสกุลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลไล รีท แมนเนจเมนท์ จำกัด กล่าวว่า "โครงการ Care the Whale ขยะล่องหน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งอัลไล รีท (ALLY REIT) ก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ โดยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งการเข้าร่วมโครงการ Care the Whale เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของบริษัทฯ ที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก สร้างสังคมยั่งยืน และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่นๆ ในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปี 2567 ได้นำร่องโครงการนี้ ในศูนย์การค้าในเครือ 3 แห่ง ได้แก่ 1. โครงการศูนย์การค้า คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (CDC) 2. โครงการศูนย์การค้า เดอะคริสตัล เอกมัย-รามอินทรา 3. โครงการศูนย์การค้า เดอะคริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์ นอกจากนี้ ยังเป็นพันธมิตรกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ด้วย โดยข้อมูลการแยกขยะของ อัลไล รีท (ALLY REIT) จะเป็นข้อมูลในการรายงานกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme) อีกด้วย"
ทั้งนี้ อัลไล รีท (ALLY REIT) และพันธมิตร RECYCOEX โดยคุณสมภพ มาจิสวาลา ผู้ก่อตั้ง RECYCOEX ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ได้รับการยอมรับและขึ้นทะเบียนกับ โครงการ Care the Whale ขยะล่องหน ได้มาให้ความรู้การแยกขยะอย่างถูกวิธี ก่อนนำไปกำจัดหรือใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ให้กับผู้จัดการศูนย์และทีมแม่บ้าน โครงการเดอะ คริสตัล เอกมัย-รามอินทรา ด้วย Know-How ความรู้เรื่องการบริหารจัดการขยะ เพื่อมาร่วมเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกันกับสมาชิกในโครงการ ซึ่งการดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ 3M คือ
- Module สถานประกอบการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ แผนการดำเนินการ "ลด เก็บ แยก จัดการ" ขยะหรือของเสียแต่ละประเภท จัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบระบบงานด้านสิ่งแวดล้อม การรายงาน และวิเคราะห์การประเมินผล
- Monitor ตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนเครื่องมือบริหารจัดการข้อมูลในการคัดแยกขยะและเครื่องมือคำนวณการวัดผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้กับสถานประกอบการ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อการปรับแผนงานในวงจรที่เกี่ยวข้อง
- Multiply สถานประกอบการและตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกันเผยแพร่การดำเนินงานการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งรณรงค์ ร่วมเผยแพร่องค์ความรู้การจัดการขยะ เพื่อร่วมกันขยายผลลัพธ์ในวงกว้าง สามารถวัดผลค่าการลดก๊าซเรือนกระจกได้ทันทีตอบโจทย์ความยั่งยืนของทุกองค์กร
โดยผลการดำเนินงานโครงการ Care the Whale ขยะล่องหนตั้งแต่ปี 2019 - ปัจจุบัน มีสมาชิกหรือลูกบ้านในเครือข่าย 98 องค์กร ปริมาณขยะที่บริหารจัดการรวม 27,388,190.36 กิโลกรัม สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 90,808,512.41 Kg CO 2 eq เทียบเท่าการดูดซับ CO 2 /ปี ของต้นไม้ 10,089,834.71 ต้น
คุณกวินทร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาศูนย์การค้าในเครือ อัลไล รีท (ALLY REIT) ได้ตระหนักถึงหน้าที่ในการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี มีการรองรับและมีการดำเนินการจัดการขยะมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ได้เคยจัดกิจกรรมเก็บขยะในพื้นที่โดยรอบและนำมาคัดแยกประเภทขยะมาแล้ว ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการ Care the Whale ซึ่งเป็นโครงการร่วมภาคสังคม ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในย่านรัชดาภิเษกและขยายผลมายังย่านอื่นๆ เพื่อลดภาวะโลกร้อนและสร้างคุณภาพชีวิตที่สมดุล มีแนวคิดและแนวปฏิบัติตรงกันกับภารกิจที่ศูนย์การค้าฯ ดำเนินการอยู่ นั่นคือความตระหนักและมองเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ในการเพิ่มขยะรีไซเคิล ลดขยะทั่วไป และนำขยะย่อยสลายไปใช้ประโยชน์ต่อ (Zero Waste) เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน และกระตุ้นการสร้างจิตสำนึกของคนในสังคมต่อเรื่องนี้ ต้องมีการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน จะทำให้สิ่งที่ดำเนินการอยู่นั้น เห็นผลเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน และรวดเร็วกว่าการลงมือทำแต่เพียงลำพัง
"ขยะคือประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่หลายองค์กรทั่วโลกให้ความสนใจ และมีเป้าหมายร่วมกันในการลดผลกระทบจากปัญหาขยะ การจัดการขยะจึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน การคัดแยกขยะนอกจากจะทำให้ปริมาณขยะที่ต้องกำจัดทิ้งลดลงแล้ว ยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการช่วยลดปัญหาโลกร้อนด้วย ศูนย์การค้าฯ จึงเริ่มจากการให้ความรู้ร้านค้าผู้เช่า ผู้มาใช้บริการ ตลอดจนประชาชนที่พำนักอาศัยหรือทำงานในพื้นที่โดยรอบ ให้รู้จักการทิ้งขยะอย่างถูกวิธี ด้วยการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เพราะนอกจากจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับศูนย์การค้าฯ ได้แล้วนั้น ในอนาคตยังมองไปถึงการขยายผลไปสู่เป้าหมาย Zero Waste to landfill ในย่านถนนเส้นเลียบด่วนและย่านราชพฤกษ์ อีกด้วย พร้อมกันนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการทำงานการจัดการขยะอย่างชัดเจน โดยพนักงานแต่ละฝ่ายจะมีส่วนร่วม ที่ไม่เพียงแค่จัดการขยะภายในศูนย์การค้าฯ เท่านั้น แต่ยังมีการขยายวงออกไปสู่ชุมชนโดยรอบ และยังมีการต่อยอดโครงการกับหน่วยงานอื่นๆ อีกด้วย"
ที่มา: โพลีพลัส พีอาร์