ขณะเดียวกันได้ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมปี 2567 ของ กทม. ตามแผนการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยควบคุมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งแก้มลิง 35 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 376 แห่ง สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย เตรียมความพร้อมอุโมงค์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง ปัจจุบันได้ตรวจสอบ ซ่อมแซมและบำรุงรักษาประจำปีแล้วเสร็จ รวมทั้งเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็วขึ้น รวมถึงตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำของ สนน. 477 แห่ง และเครื่องสูบน้ำดีเซลของสำนักงานเขต 421 เครื่อง สามารถใช้งานได้ตามปกติ เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์สนับสนุน เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำ และหน่วย Best เข้าแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน นอกจากนั้น ได้เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ ได้แก่ แผนล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณใต้สะพานและท่อลอดต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เศรษฐกิจของ กทม. โดยตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุน้ำท่วม หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 50 เขต ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 ทั้งนี้ ปลัด กทม. ได้สั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมโดยให้เร่งเข้าแก้ไขปัญหาทันที
สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นกรุงเทพฯ ปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 737 แห่ง เป็นจุดเสี่ยงน้ำฝน 617 จุด และจุดเสี่ยงแนวริมแม่น้ำ (น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน) 120 จุด ซึ่งดำเนินการแก้ไขแล้ว 179 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 231 แห่ง คาดว่า จะแล้วเสร็จทันฝนปีนี้ 190 แห่ง ส่วนปี 2567 ได้รับงบประมาณ 72 แห่ง คาดว่า จะแล้วเสร็จทันฝนปีนี้ 4 แห่ง และในปี 2568 อยู่ระหว่างของบประมาณ 75 แห่ง คงเหลือที่อยู่ในระหว่างสำรวจและหาแนวทางแก้ไขอีก 180 แห่ง อย่างไรก็ตาม กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งได้แจ้งและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ สนน. ทราบเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำจะประสานแจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม. ต่อไป พร้อมประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. อีกทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนพื้นที่รอยต่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ที่มา: กรุงเทพมหานคร