ทั้งนี้ การจัดระเบียบทางเท้าและการทำการค้าหาบเร่-แผงลอย กทม. ได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้แก่ สนท. และสำนักงานเขตในการจัดระเบียบฯ โดยเน้นความสะดวกสบายและปลอดภัยในการสัญจรของประชาชนเป็นสำคัญ ดังนี้ (1) จุดพื้นที่ทำการค้า หรือจุดผ่อนผันที่ กทม. อนุญาตให้ตั้งวางขายของได้ จะต้องกวดขันให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด พื้นที่จุดใดที่สร้างปัญหาและไม่สามารถแก้ไขได้ จะต้องยกเลิก เพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชน (2) นอกจุดทำการค้า หรือนอกจุดผ่อนผัน เป็นการทำการค้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนมาก ให้สำนักงานเขตบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยในระหว่างการดำเนินการให้ยึดแนวทางตามหลักเกณฑ์ของ กทม. มาปรับใช้โดยอนุโลม และลำดับความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการ จากการจัดทำทะเบียนควบคุมเมื่อปี 2565 มีจำนวน 726 จุด ผู้ค้า 15,858 ราย ปัจจุบันได้บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ผลักดันให้ผู้ค้าเข้าไปขายในที่เอกชน Hawker Center และที่อื่น ๆ เพื่อคืนพื้นที่ทางเท้าให้ประชาชนได้สัญจรอย่างสะดวก ปลอดภัย ขณะนี้คงเหลือจุดทำการค้านอกจุด 409 จุด ผู้ค้า 11,664 ราย (3) การจัดหาพื้นที่ของหน่วยงานเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือพื้นที่ของ กทม. ที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำเป็น Hawker Center รองรับผู้ค้าของ กทม. และ (4) ให้เจ้าหน้าที่กวดขันตรวจตราพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
นายเทียนชัย วงศ์สุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตดุสิต กทม. กล่าวว่า คณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ระดับเขต เขตดุสิต มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 67 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ทำพื้นที่ทำการค้าเปลี่ยนแปลงวันหยุดทำการค้าให้เป็นไปตามประกาศ กทม. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ ลงวันที่ 28 ม.ค. 63 โดยมติที่เกี่ยวข้องกับบริเวณจุดที่ทำการค้าข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนพิษณุโลก มีจุด เริ่มต้น-จุดสิ้นสุด จากป้ายรถประจำทางถนนพิษณุโลก ถึงประตูทางออกคุรุสภา ความยาวประมาณ 150 เมตร ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. มีผู้ค้า 193 ราย ซึ่งมติคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงวันหยุดทำการค้าจากหยุดวันจันทร์ เป็นหยุดวันเสาร์และวันอาทิตย์ เนื่องจากผู้มาจับจ่ายใช้สอยส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอยู่ในสถานที่ราชการ โดยให้เริ่มขายในวันจันทร์ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 67 เป็นต้นมา ส่วนกรณีการร้องเรียนเรียกเก็บเงินในวันจันทร์ได้ตรวจสอบแล้ว ไม่มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตฯ เกี่ยวข้องและไม่ได้รับข้อมูลอื่นใดในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง แต่เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานเขตฯ จึงได้มีหนังสือแจ้งสถานีตำรวจนครบาลดุสิต เพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวว่า ผู้ค้าบริเวณหน้าศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ เป็นผู้ค้าที่จำหน่ายในที่สาธารณะบริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีพหลโยธิน ปากซอยลาดพร้าว 1 ถนนลาดพร้าว จำนวน 15 ราย ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการจัดระเบียบผู้ค้าบริเวณดังกล่าวโดยประสาน รฟม. พร้อมทั้งประสานตัวแทนผู้ค้าในการทำหนังสือขอเช่าพื้นที่ทำการค้ากับ รฟม. ทั้งนี้ ผู้ค้าบริเวณดังกล่าวได้เคลื่อนย้ายจากการทำการค้าในที่สาธารณะไปทำการค้าในพื้นที่ของ รฟม. และชำระค่าเช่ากับ รฟม. โดยตรง ซึ่งสำนักงานเขตฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าเช่าของผู้ค้าตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
ที่มา: กรุงเทพมหานคร