บริษัท ไนซ์ คอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCP ผู้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้า และให้บริการทำการตลาดแบบตรง (Direct Marketing) ผ่านช่องทางการขายสินค้าทางโทรศัพท์ (Telesales) ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ความสวยงาม และสินค้าเวชสำอาง ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง (House Brand) ภายใต้แบรนด์สินค้า "BN" และจำหน่ายผลิตภัณฑ์คู่ค้าพันธมิตรผ่านช่องทางการขายของบริษัทมากกว่า 42 ราย มีผลิตภัณฑ์สินค้าที่จัดจำหน่ายมากกว่า 57 แบรนด์ 203 รายการ ด้วยพนักงานขายสินค้าทางโทรศัพท์ (Telesales) มามากกว่า 10 ปี ก่อตั้งโดย นายศรัณย์ เวชสุภาพร ผู้มีประสบการณ์การดำเนินงานด้านการทำการตลาดแบบตรง (Direct Marketing) มามากกว่า 20 ปี และเป็นนายกสมาคมการค้าธุรกิจศูนย์บริการทางโทรศัพท์ไทย (Thai Contact Center Association) หรือ TCCTA โดย NCP มีแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) จำนวน 50 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นร้อยละ 27.78 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในหมวดธุรกิจบริการ (SERVICE) ภายในปี 2567
การระดมทุนครั้งนี้ บริษัทจะนำไปก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ จำนวน 30 ล้านบาท, ก่อสร้างสถานที่ทำงานในเรือนจำ 10 ล้านบาท, พัฒนาระบบเทคโนโลยีซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจใหม่และพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อรองรับการเพิ่มจำนวนพนักงาน จำนวน 5 ล้านบาท และใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ จำนวน 55 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีรายงานบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ 3 แห่ง ได้ประเมินราคาเหมาะสมของหุ้น NCP ไว้ดังนี้ 1.บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด นักวิเคราะห์ประเมินราคาเป้าหมายที่เหมาะสมของ NCP ในปี 2567 อยู่ที่ 2.52 บาท ประเมินราคาเหมาะสม NCP โดยอิง Prospective PE ที่ระดับ 14 เท่า เท่ากับระดับค่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจที่ทำเกี่ยวข้องกับ Direct Marketing รวมถึงธุรกิจที่มีการทำ Telesales Marketing โดยคาดการณ์กำไรต่อหุ้นปี 2567 อยู่ที่ 0.18 บาท โดยคาดการณ์รายได้ช่วงปี 2567 จะอยู่ที่ 262 ล้านบาท เติบโต 51% จากปีก่อน และปี 2568 คาดที่ระดับ 335 ล้านบาท เติบโตอีก 28% จากปีก่อนหน้า บนสมมติฐาน Best Scenario จากทั้ง 3 ส่วนธุรกิจ คือ ธุรกิจการขายสินค้าผ่านช่องทางการขายทางโทรศัพท์ ธุรกิจการให้บริการเพิ่มยอดขายสินค้าจากการขายสินค้าครั้งแรก (Upselling Service) และธุรกิจการให้บริการบริหารพนักงานขายโดยเฉพาะเจาะจง (Dedicated Telesale Outsourcing) โดยหลักมาจากแผนการเพิ่มจำนวนพนักงาน เพื่อรองรับฐานข้อมูลรายชื่อลูกค้าที่บริษัทมีทั้งหมดกว่า 5 ล้านราย และเพื่อรองรับสำหรับคู่ค้าในธุรกิจใหม่
ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นคาดทรงตัวที่ 57% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้รวม(SG&A/Sales) จะทยอยปรับลดลงสู่ 42% และ 38% ตามลำดับ จากปี 2566 อยู่ที่ 49% เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณ 3 ล้านบาท/ปี ทยอยหมดไป รวมถึงการเติบโตในธุรกิจ Upselling Service และ Dedicated Telesale Outsourcing ซึ่งต้นทุนพนักงานจะถูกบันทึกเป็นต้นทุนในการขายและบริการ แตกต่างจากธุรกิจ Telesales ซึ่งต้นทุนจะถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในการขาย ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2567 อยู่ที่ 32 ล้านบาท เติบโต 159% จากปีก่อน และปี 2568 คาดที่ระดับ 50 ล้านบาท เติบโต 54% จากปีก่อนหน้า
2.บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) นักวิเคราะห์และฝ่ายวิจัยกำหนดราคาเป้าหมาย NCP อยู่ที่ 2.52 บาท อ้างอิงจาก P/E ปี 2567 ที่ 12.73 เท่า โดยเทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยของกลุ่มบริษัทที่มีการขายสินค้าผ่านช่องทางตนเอง (โทรทัศน์, โทรศัพท์, เว็บไซต์, โซเชียลมีเดีย และแอพพลิเคชั่น) ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วของกลุ่มอุตสาหกรรม Marketing รายเล็กดังกล่าว สะท้อนการเติบโตของผลประกอบการในอนาคตของ NCP ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งประมาณ 25% CAGR ในช่วงปี 2567-69
โดยคาดปี 2567 ผลการดำเนินงานของ NCP จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ภายหลังจากการขยายธุรกิจการให้บริการทั้ง Upselling service และ Dedicated telesales service โดยคาดกำไรสุทธิจะโตเป็น 36 ล้านบาทในปี 2567 และปี 2568 เพิ่มเป็น 55 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยที่ 39% (CAGR ปี 2565-68) หนุนจาก 1.รายได้ในธุรกิจบริการที่เพิ่มขึ้น 2.อัตรากำไรขั้นต้นที่ดีต่อเนื่องที่ระดับ 60% และ 3.ความสามารถในการควบคุม SG&A/Sales ที่ดีมากขึ้นตั้งแต่ปี 2567
3.บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) นักวิเคราะห์ประเมินมูลค่าพื้นฐาน อยู่ที่ 2.60 บาท ด้วยวิธี PE multiple ใช้กำไรสุทธิต่อหุ้นปี 2567 ที่ 0.17 บาท (Fully diluted) กำหนดเป้าหมาย P/E ปี 2567 ที่ 15 เท่า ซึ่งเป็นระดับ P/E ที่ต่ำกว่ากลุ่ม SERVICE ใน MAI ที่มีค่าเฉลี่ย P/E ย้อนหลัง 4 ไตรมาส และ 8 ไตรมาสที่ 39.7 เท่า และ 53.2 เท่า และเป็นระดับ P/E ที่ต่ำกว่ากลุ่ม SERVICE ใน SET ที่มีค่าเฉลี่ย P/E ย้อนหลัง 4 ไตรมาส และ 8 ไตรมาสที่ 40.4 เท่า และ 38.4 เท่า ตามลำดับ
ทั้งนี้ บริษัทฯ รักษาอัตรากำไรขั้นต้นสูงที่ 57.5% ในปี 2567-68 ใกล้เคียงกับปี 2566 และ SG&A ต่อยอดขายลดลง เนื่องจากยอดขายที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลง ดังนั้นจึงคาดว่าในปี 2567 กำไรสุทธิของบริษัทฯ จะปรับสูงขึ้นเป็น 31.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 149.7% และปี 2568 เพิ่มเป็น 50.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 62.4% จากปีก่อนหน้า
ที่มา: เดอะเวย์ คอมมิวนิเคชั่น