ขณะเดียวกัน สวท. ร่วมกับสำนักงานเขตฯ ได้บูรณาการด้านการท่องเที่ยวร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน ภาคประชาชน สถาบัน และองค์กรในย่านเยาวราช กำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวหลายเส้นทางและโปรแกรมหลายรูปแบบ ตั้งแต่กิจกรรมเดินเท้าท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยวโดยใช้จักรยาน ซึ่ง กทม. ได้ตั้งจุดเช่าบริการจักรยานสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตั้งจุดบริการจักรยานตามพื้นที่โดยรอบย่านเยาวราช สนับสนุนการท่องเที่ยวแบบเฉพาะ เช่น Gastronomy Tourism เพื่อเชื่อมโยงเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่หลากหลายและยั่งยืน
นอกจากนี้ กทม. ได้ดำเนินการและสนับสนุนการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมย่านตลาดน้อย ย่านสำเพ็ง ย่านทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ต่อเนื่องถึงย่าน Little India คลองโอ่งอ่าง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งแต่ละแห่งมีความโดดเด่นของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความสวยงามของวิถีชุมชนที่เก่าแก่และมีคุณค่า และมีพื้นที่ต่อเนื่องกับย่านเยาวราช โดยได้ปรับปรุงพื้นผิวจราจรตั้งแต่ซอยวานิช 2 ซอยเจริญกรุง 24 ถึงหน้าอาคารเลขที่ 999 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งชุมชนย่านตลาดน้อย จัดกิจกรรมตลาดนัด "ตะลักเกี๊ยะ" ทุกวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน และมีเทศกาลท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับย่านเยาวราชในช่วงงานเทศกาลต่าง ๆ ของชาวจีน ได้แก่ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลกินเจ เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นประจำทุกปี
สำหรับนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาลตลอดปีของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำหนดให้เดือน พ.ค. เป็นเดือนแห่งเทศกาลอาหาร โดย สวท. ได้จัดงานเทศกาลอาหาร กทม. บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ จนถึงบริเวณแยกเฉลิมบุรี ซึ่งจะจัดต่อเนื่องทุกปี เช่นเดียวกับเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ททท. สมาคมผู้ประกอบการไทย-จีน และสถานทูตจีนประจำประเทศไทยที่จัดงานยิ่งใหญ่ทุกปี
ทั้งนี้ สวท. มีจุดบริการข้อมูลการท่องเที่ยวบริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ มีเจ้าหน้าที่ให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น. ให้บริการข้อมูลการท่องเที่ยว แผนที่ เอกสารการท่องเที่ยว หรือหากนักท่องเที่ยวมีเหตุเดือดร้อน ต้องการขอความช่วยเหลือสามารถประสานเจ้าหน้าที่ เพื่อขอความช่วยเหลือในการประสานศูนย์ประสานงานช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ
ที่มา: กรุงเทพมหานคร