ในเบื้องต้นสำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ออกคำสั่งให้บรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แจ้งบริษัทผู้ควบคุมงานก่อสร้างและบริษัทผู้ดำเนินการกำจัดมูลฝอยให้แก้ไขและห้ามใช้ทาวเวอร์เครนดังกล่าว นอกจากนั้น สำนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการฯ ได้ประสานวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เพื่อตรวจสอบสาเหตุของทาวเวอร์เครนที่ล้ม รวมถึงแจ้งบริษัทที่ดำเนินการฯ ให้หยุดการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและดำเนินการแก้ไข
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า สนย. ได้ประสานความร่วมมือตรวจสอบสาเหตุเครนที่อยู่ระหว่างก่อสร้างบริเวณโครงการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ผลิตพลังงานไฟฟ้าศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ร่วมกับ วสท. สำนักสิ่งแวดล้อม และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สาเหตุคาดว่า สลักยึดข้อต่อช่วงกลางแขนเครนขาด ทำให้แขนเครนหักพับลงมา ตัวเครนเสียสมดุลเอียงและล้มมาด้านหลังเป็นการวิบัติแบบพลิกคว่ำ (overturning) ซึ่งระหว่างการตรวจสอบสาเหตุ โครงการฯ ได้กั้นบริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่อันตรายและห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องผ่านเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว ขณะเดียวกัน สนย. จะได้ประสานสำนักสิ่งแวดล้อม กำชับให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ สนย. ได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบมาตรการควบคุมการใช้ปั้นจั่นหอสูง หรือเครนก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 67 ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งผู้ดำเนินการต้องตรวจสอบความแข็งแรงและความปลอดภัยของปั้นจั่นหอสูงและเดอริกเครนที่ใช้สอยอยู่เป็นประจำ ตามคู่มือผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด โดยบันทึกผลการตรวจสอบและลงลายมือชื่อไว้ทุกเดือน เพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นและเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ที่มา: กรุงเทพมหานคร