นางมธุวลี สถิตยุทธการ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "สอดคล้องกับค่านิยม 'Giving Back to Society' ของบริษัท เรามุ่งสร้างจิตสำนึกของการเป็นผู้ให้ และรณรงค์ให้เกิดการบริจาคโลหิต เพื่อจัดหาโลหิตสำรองให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในแต่ละปีของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยที่เราเล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ และพลังความคิดสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ของเยาวชน นักเรียนและนักศึกษา เราจึงจัดประกวดออกแบบลายเสื้อยืดตามแนวคิด 'Give Blood Gives Lives…พลังเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่' ในหัวข้อการเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต รวมทั้งสาระน่ารู้เกี่ยวกับธาตุเหล็กและการบริจาคโลหิต ภายใต้โครงการ 'แบรนด์…พลังเลือดใหม่ ต่อพลังชีวิต 2567' (BRAND'S Young Blood 2024) เพื่อรณรงค์ให้เกิดการบริจาคโลหิตในวงกว้าง ตลอดจนชิงทุนการศึกษา เกียรติบัตร และผลิตภัณฑ์แบรนด์ซุปไก่สกัด โดยผลงานที่ชนะเลิศจะถูกนำไปผลิตเป็นเสื้อยืดเพื่อมอบให้กับผู้บริจาคโลหิตต่อไป"
รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า "ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีภารกิจหลักในการให้บริการโลหิต ที่เพียงพอ มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ โดยประเทศไทย มีผู้บริจาคโลหิต 2.5 - 3 ล้านยูนิตต่อปี จากสถิติปี 2566 มีกลุ่มเยาวชนอายุ 17-20 ปี จำนวนทั้งหมด 3,194,117 ราย เป็นเยาวชนที่บริจาคโลหิตเพียงจำนวน 170,598 ราย หากมีการรณรงค์ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้เยาวชนได้เห็นถึงความสำคัญของโลหิต รวมทั้งสร้างจิตสำนึกที่ดีในการบริจาคโลหิต จะส่งผลให้เยาวชนบริจาคโลหิตเพิ่มมากขึ้น และเป็นพลังสำคัญในการบริจาคโลหิตอย่างยั่งยืนในอนาคต ดังนั้น ความร่วมมือภายใต้โครงการ 'แบรนด์…พลังเลือดใหม่ ต่อพลังชีวิต 2567' จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้กลุ่มเยาวชนได้เริ่มต้นการบริจาคโลหิตครั้งแรกเพิ่มขึ้น รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการบริจาคโลหิตเป็นประจำทุก 3 เดือน โดยตั้งเป้าหมายการรับบริจาคโลหิตในโครงการฯ ให้ได้จำนวน 100,000 ยูนิต ปัจจุบัน มียอดการบริจาคโลหิตแล้ว 49,481 ยูนิต ซึ่งได้รับจากการจัดหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 64 แห่ง ตั้งแต่เดือน มกราคม - พฤษภาคม 2567"
สำหรับการจัดโครงการฯ ปีนี้ เพื่อมุ่งส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา ตลอดจนบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงความสำคัญในเรื่องของการบริจาคโลหิต ร่วมบริจาคโลหิตเพิ่มมากขึ้น และเป็นผู้บริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำให้มีปริมาณโลหิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการใช้ของทั้งประเทศ จึงขอเชิญชวนนิสิต นักศึกษา ทั่วประเทศ มาร่วมแสดงพลังของวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ในการทำสิ่งดี ๆ เพื่อตอบแทนสังคม ทั้งในเรื่องของการบริจาคโลหิต และการร่วมออกแบบลายเสื้อยืดกับโครงการฯ
ทั้งนี้ คุณสมบัติผู้เข้าร่วมประกวดออกแบบลายเสื้อยืดในโครงการฯ ต้องเป็นนิสิต นักศึกษาในสถาบันการศึกษาอย่างถูกต้องและมีอายุไม่เกิน 22 ปี โดยสามารถส่งผลงานออกแบบ 1 คน หรือ 1 ทีม (สมาชิกไม่เกิน 2 คน) ไม่จำกัดจำนวนผลงาน ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดและกรอกใบสมัครเข้าร่วมการประกวดได้ที่ www.blooddonationthai.com (หัวข้อดาวน์โหลด)
โดยสามารถส่งผลงานได้ 3 วิธี ได้แก่
- ส่งไฟล์ผลงานมาที่ email : [email protected] ตั้งแต่วันนี้ - 31 สิงหาคม 2567
- ส่งผลงานทางไปรษณีย์ ใส่ซองปิดผนึก จ่าหน้าซองถึง งานกิจกรรมสัมพันธ์และโครงการพิเศษ ฝ่ายจัดหาผู้บริจาคโลหิตและสื่อสารองค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 วงเล็บมุมซองว่า (ประกวดออกแบบลายเสื้อ - BYB 2024) โดยจะยึดตามวันที่ประทับตราบนซองเป็นสำคัญ
- กรณีส่งผลงานด้วยตัวเอง ให้ติดต่อฝ่ายจัดหาผู้บริจาคโลหิตและสื่อสารองค์กร อาคารเฉลิม พระเกียรติบรมราชินีนาถ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ (ในวันและเวลาราชการ จันทร์-ศุกร์ 8.00 - 16.30 น.)
โครงการจะประกาศผลผู้ได้รับรางวัลทุกระดับ ในวันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2567 ผ่านทาง www.facebook.com/nbctrc และ www.facebook.com/BRANDSWorldThailand
ผู้ชนะเลิศจะได้รับเกียรติบัตร พร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 จะได้รับเกียรติบัตร พร้อมทุนการศึกษา 5,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 จะได้รับเกียรติบัตรพร้อมทุนการศึกษา 3,000 บาท โดยผู้ชนะรางวัลในทุกระดับจะได้รับผลิตภัณฑ์แบรนด์ซุปไก่สกัดดื่มฟรีตลอดปีสำหรับนิสิต นักศึกษา และสถาบันการศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการประกวดออกแบบลายเสื้อ สามารถดาวน์โหลดใบสมัคร และสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0 2263 9600 ต่อ 1743 หรือ www.blooddonationthai.com (หัวข้อดาวน์โหลด)
ที่มา: โซลิสเตอร์ พีอาร์