นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ด้วยขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่ฤดูฝน ทำให้สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง และในหลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคและภัยสุขภาพ สคร.12 สงขลา ห่วงใยในสุขภาพของพี่น้องประชาชน แนะนำ เฝ้าระวังและเตรียมตัวรับมือป้องกันโรคและภัยที่มากับฤดูฝน
โรคและภัยสุขภาพที่ควรเฝ้าระวังในช่วงฤดูฝน ได้แก่ โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ 1.โรคไข้หวัดใหญ่ พบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบมากในเด็ก และอัตราการเสียชีวิต มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยติดต่อจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อ หากได้รับเชื้อจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล 2.โรคปอดอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่มีโรคประจำตัว ติดต่อจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ การหายใจนำเชื้อที่ปนเปื้อนในอากาศ ผ่านการไอหรือจาม หากได้รับเชื้อจะมีไข้ ไอ และหายใจหอบเหนื่อยอย่างเฉียบพลัน ซึ่งทั้งสองโรคสามารถป้องกันได้ด้วยมาตรการ "DMH" ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค จะมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ อย่างน้อย 3 ครั้ง ถ่ายปนมูกเลือด สำหรับการป้องกัน ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังประกอบอาหาร รับประทานอาหาร หรือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ หากต้องการรับประทานอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และไม่ควรรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
โรคติดต่อจากการสัมผัส ได้แก่ 1.โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส อุจจาระ ของผู้ป่วย จะมีไข้แต่ไม่ทุกราย มีตุ่มน้ำใสหรือแผลในช่องปาก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือก้น ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและหายเองได้ ทั้งนี้ขอให้ผู้ปกครองและครูสังเกตอาการป่วยของบุตรหลาน หากพบว่ามีอาการสงสัยป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที รีบไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดี 2.โรคเลปโตสไปโรสิส เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน พบบ่อยในผู้มีอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องสัมผัสกับดินหรือน้ำอยู่เป็นประจำ อาการที่พบคือ ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงโดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง การป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำลุยโคลนเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมทุกครั้ง เช่น ใส่ถุงมือยาว และรองเท้าบูทยาว
โรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ 1.โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีจุดแดงที่ผิวหนัง หากมีอาการรุนแรงอาจเกิดอาการช็อก 2.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค อาการคล้ายไข้เลือดออก โดยมีอาการปวดข้อร่วมกับไข้สูงเฉียบพลัน 3.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะ อาการโรคจะไม่รุนแรง แต่หากติดเชื้อในสตรีมีครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะศีรษะเล็กในเด็กแรกเกิด เด็กมีพัฒนาการช้าและตัวเล็ก หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ การป้องกัน โดยใช้มาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" ดังนี้ 1.เก็บบ้าน ให้สะอาด 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน และ 3.เก็บน้ำ ปิดฝาให้มิดชิด ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้ง 3 โรค
ภัยสุขภาพ คือ อันตรายจากการกินเห็ดพิษ หากไม่มั่นใจว่าเป็นเห็ดพิษหรือเห็ดที่รับประทานได้ ไม่ควรนำมารับประทาน หรืออาจเลือกรับประทานเห็ดที่มาจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เป็นต้น ทั้งนี้ สคร.12 สงขลา เน้นย้ำ พี่น้องประชาชนขอให้เฝ้าระวังและเตรียมตัวรับมือป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มาพร้อมฤดูฝน ได้อย่างทันท่วงที หากมีข้อสงสัย สามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ที่มา: สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา