สถาบันการเงินผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ให้ความเห็นว่า ผลตอบแทนที่น่าสนใจและอันดับความน่าเชื่อถือที่ดี ประกอบกับพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งของอินโดรามา เวนเจอร์ส เป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของการเสนอขายนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้ลงทุนรายย่อยต่อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ในประเทศไทย โดยหลังจากเสร็จสิ้นการเสนอขายครั้งนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส กำลังเตรียมไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ที่เคยออกเมื่อปี 2562 ซึ่งจะมีอายุครบ 5 ปีในเดือนพฤศจิกายนปีนี้
หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงานของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในการเพิ่มความหลากหลายของแหล่งเงินทุน รวมทั้งรักษาสภาพคล่องในระดับสูงและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีความคืบหน้าในการดำเนินตามกลยุทธ์ธุรกิจ IVL 2.0 ในการเพิ่มประสิทธิภาพฐานการผลิตทั่วโลก การลดภาระหนี้สิน การปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มคุณภาพรายได้ และการรักษาผลตอบแทนที่สูงกว่าที่มอบให้แก่ผู้ถือหุ้น
นายดีเค อากาวาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทฯ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า "เราขอขอบคุณนักลงทุนที่ให้ความเชื่อมั่นในอินโดรามา เวนเจอร์ส ทำให้การเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ต่อประชาชนเป็นการทั่วไปในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ โดยการเพิ่มความหลากหลายของแหล่งเงินทุนเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในกลยุทธ์ IVL 2.0 เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นและรักษาแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวของบริษัท"
ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ของอินโดรามา เวนเจอร์ส ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ระดับ "A" แนวโน้ม "คงที่" และอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้ที่ระดับ "AA-" แนวโน้ม "คงที่" จัดโดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยในช่วง 5 ปีแรกไว้ที่ 6.10% ต่อปี จัดจำหน่ายผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส และ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต
ที่มา: ไอทูซี คอมมิวนิเคชั่นส์