เศรษฐกิจไทย Q3 กำลังฟื้นตัวแต่เสี่ยงป่วยจาก G-E-R-M

อังคาร ๐๙ กรกฎาคม ๒๐๒๔ ๑๖:๒๔
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสสามมี 4 ปัจจัยเสี่ยงหลัก เรียกย่อๆ ว่า GERM
เศรษฐกิจไทย Q3 กำลังฟื้นตัวแต่เสี่ยงป่วยจาก G-E-R-M

G - Geo-politics - ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังป่วนโลก กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ต้นทุนขนส่งสินค้าทางเรือจะสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนสำคัญในภาคการผลิตและขนส่ง ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่เคยคาดการณ์ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอาจปรับขึ้นไปทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้หากสถานการณ์เลวร้ายและกระทบผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน รวมทั้งความขัดแย้งในยูเครนที่อาจยืดเยื้อและรุนแรงจนกระทบอุปทานน้ำมันของรัสเซีย ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน หรือเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่อาจกระทบห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตจนทำให้ราคาสินค้าบางประเภทโดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับพุ่งขึ้นได้

E - Elections - การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง การเลือกตั้งแม้เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนไปบริหารประเทศ แต่ เรามักพบการเมืองที่เปลี่ยนขั้ว มีผลต่อการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันออกไป เช่น การเลือกตั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส กระทบต่อความเชื่อมั่นในการลดระดับหนี้สาธารณะและกระทบต่อค่าเงินและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่น่าจับตา คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ วันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ จะมีความสำคัญต่อทิศทางการค้า การลงทุน และกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ (De-globalization) ที่จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้

R- Interest Rate - อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูงและลากยาว แม้เราคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยช่วงกันยายนและธันวาคม จากระดับ 5.50% สู่ระดับ 5.00% ในปลายปีนี้ จากตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มแผ่วลง แต่หากเฟดยังกังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลงช้า และห่วงว่าหากปรับลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปจะทำให้เงินเฟ้อกลับมาพุ่งขึ้นต่อได้ เฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น ความน่าสนใจของการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ลดลง มีเงินทุนไหลออกจากตลาดทุนไทย และหากเฟดส่งสัญญาณที่จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเลยในปีนี้ ค่าเงินบาทอาจพลิกกลับไปอ่อนค่าได้ต่อ ทะลุระดับ 37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แทนระดับที่เคยคาดการณ์ 37.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะกระทบต้นทุนการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะน้ำมัน ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยปรับสูงขึ้นกว่าคาดได้ และกนง. อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีแทนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมอย่างที่เราคาด

M - Manufacturing - ภาคการผลิตอาจหดตัวต่อเนื่อง ความอ่อนแอของภาคการผลิตมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอในช่วงที่ผ่านมา ทั้งขาดสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ขาด FDI หรือเติบโตรั้งท้ายในภูมิภาค หรือการที่ไทยนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเป็นจำนวนมากจนทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะตัวเลข MPI ที่หดตัวต่อเนื่อง แม้เราคาดว่าภาคการผลิตจะปรับตัวดีขึ้นไตรมาสสามตามการฟื้นตัวของตลาดโลกและความเชื่อมั่นดีขึ้น แต่หากไทยไม่สามารถยับยั้งการเร่งระบายสินค้าจากจีน SMEs ไทยจะกระทบหนักถึงขั้นปิดโรงงาน

"จากการที่จีนยังคงระดับการผลิตสินค้าเพื่อรักษาระดับการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจแม้อุปสงค์ในประเทศชะลอและเผชิญสงครามการค้ากับชาติตะวันตก ซึ่งที่จริงจีนน่าจะผลิตลดลง แต่กลับนำผลผลิตส่วนเกินมาระบายในตลาดอาเซียนโดยเฉพาะไทย หากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง ภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะโรงงานในกลุ่ม SMEs ที่ขาดความสามารถในการแข่งขันอาจต้องปิดตัวลงจนกระทบการจ้างงานและการบริโภคของคนไทยอีกทอดหนึ่ง ซึ่งหวังว่ารัฐบาลไทยจะมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาและเร่งให้ SMEs ไทยปรับตัวได้ในไม่ช้า" ดร.อมรเทพ กล่าว

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความผันผวน ผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในประเทศและปัจจัยทั่วโลก ในไตรมาสแรกของปี 2567 เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า มีอัตราเติบโตเพียง 1.5% เทียบกับปีก่อน (yoy) หรือ 1.1% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังจากปรับฤดูกาล (qoq, sa) เราประเมินว่าสถานการณ์ช่วงไตรมาสสองมีลักษณะคล้ายกันกับไตรมาสแรก โดยเราคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาสที่สองจะขยายตัว 1.8% yoy หรือ 0.6% qoq, sa ซึ่งทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเผยแพร่รายงานเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่สองในวันที่ 19 สิงหาคม และคาดว่าจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ สำนักวิจัย CIMBT คงคาดการณ์การขยายตัวของ GDP สำหรับปี 2567 ทั้งปีไว้ที่ 2.3% และให้แนวโน้มสำหรับปี 2568 ที่ดูมีความหวังมากขึ้นไว้ที่ 3.2%

สำหรับเศรษฐกิจช่วงไตรมาสสอง นอกจากเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำ รายได้ยังกระจุกในภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคเกษตรเริ่มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ภาคการผลิตกลับหดตัวและน่าเป็นห่วง ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย เอกชนชะลอการลงทุนโดยเฉพาะภาคก่อสร้าง ขณะที่ภาคการผลิตยังหดตัว การส่งออกยังฟื้นไม่ชัดเจน มีตัวแปรที่เสริมจากไตรมาสหนึ่งคือการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเริ่มกลับมาขยายตัวนับจากเดือนพฤษภาคม ซึ่งน่าพอพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวไปได้

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2567 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวชัดเจนขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการส่งออก ขณะที่อุปสงค์ภายในจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค แต่เป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่ความเสี่ยงหลักจะมาจาก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูงลากยาว และภาคการผลิตที่อาจหดตัวต่อเนื่อง

แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ แต่รัฐบาลไทยมีงบประมาณ และดำเนินมาตรการการคลังที่มุ่งเป้าเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มการบริโภคภายในประเทศโดยไม่เพิ่มภาระหนี้ของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ โครงการโครงสร้างพื้นฐานกำลังเร่งตัวขึ้น ทำให้การเชื่อมต่อดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสในการจ้างงาน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อรักษาระดับการกู้ยืมของครัวเรือนเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาวจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ธปท. ส่งเสริมให้ครัวเรือนจัดการหนี้อย่างรับผิดชอบและพิจารณาโครงการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงิน ส่วนเงินเฟ้อยังอยู่ภายใต้กรอบที่ธปท.สามารถควบคุมได้ ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามคาดการณ์ของธปท. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการลดดอกเบี้ยเพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการประชุมเดือนธันวาคมจะมีการลดดอกเบี้ยลง 0.25% ไปสู่ระดับที่ 2.25% เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2568 และให้สอดคล้องกับระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าจาก 36.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ไปที่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนกันยายน โดยเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสที่ 3 ตามการคาดการณ์ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยของสหรัฐในเดือนกันยายน ซึ่งจะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของตลาดการเงินและช่วยให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทปลายปีนี้จะอ่อนค่าลงไปที่ 37.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ:

  • การท่องเที่ยว: เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตหลัก คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะถึง 35.6 ล้านคนในปี 2567 และ 39.1 ล้านคนในปี 2568 การฟื้นตัวนี้จะช่วยกระตุ้นภาคบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และค้าปลีก รวมทั้งช่วยให้เกิดการจ้างงานและการปรับตัวของค่าจ้างและชั่วโมงทำงานที่ดีขึ้นในตลาดท่องเที่ยวระดับกลางถึงบน ขณะที่ตลาดท่องเที่ยวราคาประหยัดที่พึ่งพิงกรุ๊ปทัวร์จากจีนอาจจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เพราะนักท่องเที่ยวจีนกลับมาไม่ถึง 60%เทียบก่อนโควิด
  • การบริโภคภาคเอกชน: จะได้รับการสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นและการใช้จ่ายของครัวเรือนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล เช่น การอุดหนุนค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคและการแจกเงินสดแก่กลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ แผนการแจกกระเป๋าเงินดิจิทัลมูลค่า 10,000 บาท หากทำได้จริงในปีนี้ จะมีผลบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอีก 0.2% ทำให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 2.3% ไปอยู่ที่ 2.5% อย่างไรก็ดี การบริโภคโดยรวมน่าจะยังไม่สามารถเติบโตได้แรง โดยมีผลจากการลดลงของการซื้อรถยนต์และสินค้าคงทนอื่นๆ แต่สินค้ากลุ่มบริการน่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
  • การลงทุน: คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเติบโตได้ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่การลงทุนภาครัฐน่ากลับมาขยายตัวได้ดีหลังมีงบประมาณ โดยเฉพาะการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ การเร่งการลงทุนภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเชื่อว่าจะมีความชัดเจนช่วงไตรมาสสามนี้
  • การส่งออก: คาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการค้าโลกและความต้องการสินค้าของไทย ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนน่ามีผลให้ไทยได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการผลิตและการจ้างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอาหารแปรรูป

ที่มา: ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

เศรษฐกิจไทย Q3 กำลังฟื้นตัวแต่เสี่ยงป่วยจาก G-E-R-M

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๑๒ สธ. - ภาคีเครือข่าย ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีสุขภาวะที่ดี
๑๖:๓๓ BeNice ปล่อยไอเท็มล่าสุด! รับซัมเมอร์ BeNice Antibac Shower Cream สูตรใหม่ล่าสุด Active Shield พลังการปกป้องขั้นสุด อาบสะอาด สดชื่นตลอดวัน
๑๖:๐๐ กลุ่มเซ็นทรัล เตรียมเปิดตัว 'deCentral' ศูนย์กลางศิลปะใหม่แห่งเอเชีย พร้อมโครงการทุนสนับสนุนการผลิตผลงานศิลปะเพื่อศิลปินไทย
๑๖:๓๐ A5 ยืนยันทุกโครงการปลอดภัย ไร้ผลกระทบแผ่นดินไหว เสริมมาตรการดูแล ยกระดับความปลอดภัย - คุณภาพชีวิตลูกบ้าน
๑๕:๕๐ เป๊ปซี่(R) ประกาศรางวัล สุดยอดร้านอาหารเป๊ปซี่มิตรชวนกินแห่งปี 2025 ครั้งแรก เผยรายชื่อ 60 สุดยอดร้านเด็ดทั่วไทย การันตีความอร่อยโดยมิตรที่รู้จริง ในงาน #GrabThumbsUp Awards
๑๕:๕๙ ดีอี - ไปรษณีย์ไทย หนุนระบบขนส่งคุณภาพ ชวนเกษตรกรใช้บริการ EMS ส่งด่วนผลไม้ พร้อมอัดหลากมาตรการช่วย เสริมศักยภาพการกระจายสินค้าเกษตร
๐๑ เม.ย. วิธีสังเกตยาหมดอายุ มีอะไรบ้าง ยาแบบไหนไม่ควรทานต่อแล้ว
๐๑ เม.ย. ฉลองเทศกาลอีสเตอร์ กับกิจกรรมพิเศษ ตลอดเดือนเมษายนนี้ ที่ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
๐๑ เม.ย. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชวนผู้ประกอบการไทยสร้างร้านค้าออนไลน์ เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจแบบยั่งยืน
๐๑ เม.ย. วว. คว้ารางวัลชนะเลิศนวัตกรรมการสื่อสารสร้างสรรค์ Commu Max Competition