ไทยคม ประกาศความสำเร็จ กับแพลตฟอร์ม 'CarbonWatch' เครื่องมือประเมินคาร์บอนเครดิต ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI

ศุกร์ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ๐๙:๐๐
ได้รับการรับรองรายแรกในไทย จาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตอกย้ำการเป็นองค์กร Space Tech ที่ช่วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ไทยคม ประกาศความสำเร็จ กับแพลตฟอร์ม 'CarbonWatch' เครื่องมือประเมินคาร์บอนเครดิต ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI

บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม 'CarbonWatch' ได้รับการรับรองเครื่องมือประเมินการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าไม้ โดยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) รายแรกในประเทศไทย ภายใต้โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าว เป็นหนึ่งในบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทยคมภายใต้ Earth Insights ซึ่งเตรียมให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตแก่ลูกค้าในไทย พร้อมเดินหน้าขยายความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission)

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ในฐานะที่ อบก. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ได้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ "โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย" (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เพื่อใช้เป็นกลไกในการสนับสนุนส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการกักเก็บและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยการพิจารณาการขึ้นทะเบียนหรือรับรองคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ T-VER ผู้ดำเนินโครงการต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ อบก. กำหนด ซึ่งในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของภาคป่าไม้ อบก. ได้กำหนดให้ผู้ดำเนินโครงการสามารถเลือกใช้ วิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนโดยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลด้วยปัญญาประดิษฐ์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองความถูกต้องแม่นยำจาก อบก. ก่อนที่จะนำไปใช้ในการดำเนินโครงการ T-VER โดยไทยคม นับเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองเครื่องมือการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ โดยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จาก อบก. ที่สามารถนำมาใช้ประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่า 2 ประเภท ได้แก่ เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย และนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปลูก ฟื้นฟู ดูแลป่าจากภาคธุรกิจเอกชน ที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนในภาพใหญ่ของประเทศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2065 บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ไทยคม มีความยินดีอย่างยิ่งที่ แพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ได้รับการรับรองจาก อบก. เป็นรายแรกของประเทศไทย จึงถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของเราที่ต่อยอดความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจดาวเทียม มาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ ด้วยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก เช่น ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม มาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยี AI และ ML จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มนี้ขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศของเรา ภายใต้ Earth Insights ที่ให้บริการแก่ลูกค้าของเราในหลายมิติ โดยที่ผ่านมา เรามุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ ESG มาโดยตลอด ส่งผลให้เราได้รับรางวัลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง Sustainability Award 2023 และการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ในระดับ AAA ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเป็นองค์กรที่ช่วยให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งหลังจากที่แพลตฟอร์ม CarbonWatch ของเราได้รับการรับรองแล้ว จะนำไปใช้งานอย่างจริงจังในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมทั้งเดินหน้าผนึกกำลังกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ริเริ่ม "โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 290,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน และมีแผนที่จะขยายพื้นที่ไปยังป่าชุมชนทั่วประเทศไทย เทคโนโลยีในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราสามารถขยายโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่มีส่วนในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญในภาคสนามของเรา มาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีจนเป็นเครื่องมือที่ได้รับการรับรองในวันนี้ โดยเราได้นำฐานข้อมูลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไปผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของไทยคม จนได้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และแม่นยำออกมา นอกจากนี้ผมยังเชื่อมั่นว่าเครื่องมือนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราประเมินการกักเก็บคาร์บอนของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งให้เกิดการพัฒนาโมเดลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าประเภทอื่นๆ ด้วย เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน และร่วมกันส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นลูกรุ่นหลาน

ที่มา: ไทยคม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๑ 15 พฤศจิกายน 2567 ร่วมฉลองเทศกาลลอยกระทง กับ 5 โรงแรมหรูวิวริมทะเล ในเครือ เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์
๑๖:๑๘ Blendata เปิดตัว Blendata Cloud บน Microsoft Azure Marketplace ยกระดับโซลูชัน Big Data ไทยสู่ระดับโลก
๑๖:๓๔ แอปเรียกรถ Maxim เปิดประสบการณ์บริการเรียกรถสุดพิเศษวันฮาโลวีน เซอร์ไพรส์จากคนขับที่คุณไม่ควรพลาด
๑๖:๑๔ เกษตรหนองหญ้าปล้อง จัดเวทีประชาคมและลงตรวจสอบพื้นที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ประจำปี 2567/68
๑๖:๔๗ เสริมความแกร่ง! ธุรกิจการบิน ม.ศรีปทุม เปิดเวทีบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ ติดปีกให้นักศึกษาสู่ตลาดอุตสาหกรรมการบิน
๑๖:๕๗ Wayzim ปรับโฉมการจัดการคลังสินค้าด้วยระบบ ASRS Stacker Crane สำหรับประสิทธิภาพสูงสุด
๑๖:๔๑ การเคหะแห่งชาติ ระดมกูรูด้านภัยพิบัติ ตั้งรับ ปรับตัวกับภัยพิบัติ
๑๖:๑๑ ก.ล.ต. - ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสานความร่วมมือ ยกระดับการทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุนร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
๑๖:๕๗ ไทย-ไต้หวันร่วมยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เสริมแกร่งกำลังคนทักษะสูง สู่ฮับการผลิต PCB แห่งอาเซียน
๑๕:๔๐ JAS คว้า 5 ดาว 2 ปีซ้อน จากการประเมิน CGR 2024