ปัจจุบันการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจเป็นอาชีพที่เกษตรกรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการนำแมลงเศรษฐกิจไปใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น แมลงจำพวกผึ้ง ได้แก่ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง ที่มีประโยชน์โดยตรงคือช่วยผสมเกสรให้กับพืช เพิ่มประสิทธิภาพในการติดผลให้กับผลไม้หลายชนิดอย่างลิ้นจี่และลำไย รวมทั้งให้ผลผลิตที่เป็นประโยชน์ทางอ้อม คือ ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เช่น น้ำผึ้งดอกลำไย นมผึ้ง พรอพอลิส ไขผึ้ง ทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อบริโภคและอุปโภคได้อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังมีแมลงกินได้ ที่เป็นแมลงเศรษฐกิจสำคัญในประเทศไทย ได้แก่ จิ้งหรีด เป็นอาหารใหม่ (Novel Food) ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีปริมาณโปรตีนที่เทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ จึงเป็นที่สนใจของประเทศต่าง ๆ ในการนำมาเป็นอาหารในอนาคต (Future Food) เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรโลก และสำหรับแมลงเศรษฐกิจใช้สอยที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ ครั่ง เนื่องจากเป็นวัตถุดิบธรรมชาติในอุตสาหกรรมสีและสารเคลือบเงา ยังเป็นวัตถุดิบเริ่มต้นที่ไม่สามารถใช้สารเคมีอื่นมาทดแทนได้อีกด้วย
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมเปิดโลกแมลงเศรษฐกิจ คุณค่าและความสมดุลแห่งอนาคตนับเป็นการต่อยอดข้อได้เปรียบของประเทศไทยที่มีศักยภาพในการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจอยู่แล้ว เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นทำให้แมลงสามารถเจริญเติบโตได้ดี และมีแหล่งพืชอาหารที่หลากหลายกระจายในทุกภูมิภาคของประเทศ การเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้าถึงสถานการณ์แมลงเศรษฐกิจจากการอภิปรายคณะของหลากหลายภาคส่วนทั้งภาคเกษตรกร ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาแมลงเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล อีกทั้งนิทรรศการและการสาธิตแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแมลงเศรษฐกิจจะช่วยให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจได้เห็นขั้นตอนการปฏิบัติจริง เกิดการนำไปปรับใช้ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรและผู้สนใจรายอื่น เป็นการเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ชุมชนต่อไป
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร