การได้เข้าไปเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงหมูของเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับซีพีเอฟ เมื่อตอนที่เรียนชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาสัตวศาสตร์ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลายเป็นการจุดประกายสำคัญที่ทำให้ อนุวัฒน์ ศรีโฉม ตั้งความหวังว่าสักวันหนึ่งจะต้องได้เป็นเจ้าของกิจการฟาร์มเลี้ยงหมูและประสบความสำเร็จแบบนั้นให้ได้
หลังเรียนจบ อนุวัฒน์ เริ่มต้นอาชีพสัตวบาลฟาร์มเลี้ยงสุกร กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือซีพีเอฟ เมื่อปี 2557 รับผิดชอบดูแลฟาร์มปิดของบริษัท เริ่มจากการเลี้ยงหมูขุน และย้ายไปดูหน่วยผสม-คลอด จากนั้นมีโอกาสได้ไปดูแลเกษตรกรที่โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้ได้เรียนรู้ระบบการบริหารจัดการในรูปแบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยรับผิดชอบแลเกษตรกรที่นี่ 4 ปี จึงขอย้ายไปดูแลฟาร์มหมูของบริษัทที่ขอนแก่นและหนองคาย เพื่อให้สามารถดูแลภรรยาที่ตั้งท้องได้ใกล้ชิดขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีแนวคิดที่จะสานฝันทำฟาร์มเลี้ยงหมูของตนเอง
การได้เป็นสัตวบาลกับซีพีเอฟ เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากว่า 10 ปี มีโอกาสรับผิดชอบในทุกหน่วย ทั้งหน่วยผสม-คลอด หมูขุน หมูสาว พ่อพันธุ์ จนถึงฝ่ายขาย ในปี 2566 เขาจึงตัดสินใจลาออกเพื่อเริ่มต้นอาชีพใหม่กับการเป็นเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ทำฟาร์มเลี้ยงหมูขุนกับซีพีเอฟ ในโครงการส่งเสริมสุกรขุนอุดรธานี ก่อสร้าง หจก. พรรณนิภาฟาร์ม ที่ตำบลสุมเส้า อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี บนพื้นที่ 10 ไร่ เลี้ยงหมูขุน 2 โรงเรือน ความจุโรงเรือนละ 800 ตัว การเลี้ยงหมูอยู่ภายใต้มาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ โดยนำประสบการณ์ทั้งหมดมาปรับใช้ทั้งหมด เน้นการปรับสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้ดี อากาศดี คูลลิ่งแพด (Cooling Pad) ทำงานเต็มประสิทธิภาพ ต้องไม่มีลมร้อนเข้า เล้าปิดมิดชิดไม่มีรอยรั่ว น้ำต้องสะอาด อาหารไม่เป็นฝุ่น
"เริ่มเลี้ยงหมูรุ่นแรกเข้าเลี้ยงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ก็ถึงกำหนดจับหมูออก การเลี้ยงหมูมีประสิทธิภาพดีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะจุดเริ่มต้นที่ดี ตั้งแต่การรับหมูจากฟาร์มต้นทางที่มีสุขภาพดี เมื่อเรารับไม้ต่อมาเลี้ยงก็ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกหมูในช่วงแรก มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากพบหมูป่วยจะแยกออกไปรักษาที่คอกป่วยทันที เน้นการให้อาหารน้อยแต่บ่อยครั้ง มีการกระตุ้นการกินอาหารด้วยการผสมน้ำ ทำให้หมูกินอาหารได้ดี อัตราการเจริญเติบโตดี ไม่ป่วย ทำน้ำหนักได้ดี อัตราเสียหายปัจจุบันไม่ถึง 1%" อนุวัฒน์ เล่า
ที่สำคัญ หจก. พรรณนิภาฟาร์ม ยังใช้การจัดการฟาร์มสมัยใหม่ในรูปแบบสมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) การควบ Cooling PAD และระบบน้ำ มีระบบให้อาหารอัตโนมัติ Auto Feed การควบคุมพัดลมเชื่อมต่อกับระบบ Biogas และติดตั้ง CCTV ทำให้สามารถดูแลหมูได้โดยที่ไม่ต้องเข้าไปในโรงเรือน ทำให้เห็นความเป็นอยู่ หรือความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ยังช่วยป้องกันโรคได้อย่างดี เพราะสามารถตรวจสอบบุคคลที่ต้องอาบน้ำสระผมก่อนเข้าฟาร์ม และยังวางแผนใช้โซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มในระยะอันใกล้นี้
"ฟาร์มของเราดำเนินการตามมาตรฐาน "กรีนฟาร์ม" ของบริษัท ด้วยโมเดลธุรกิจสีเขียว ฟาร์มเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่น ใช้ระบบ Biogas 100% และกำลังจะติดตั้งระบบกรองกลิ่นท้ายโรงเรือนทำเพื่อป้องกันกลิ่นเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังทำ "โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร" ส่งน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว ให้แก่เกษตรกร 2-3 ราย ในพื้นที่ใกล้เคียง ที่มาขอรับน้ำไปใช้ในสวนปาล์มและไร่อ้อย และจะแจกการมูลที่ได้จากระบบ Biogas ที่ตากแห้งแล้ว ให้กับเกษตรกร ช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าปุ๋ยได้อีกด้วย" อนุวัฒน์ กล่าว
วันนี้ อนุวัฒน์ ได้ทำตามฝันมีธุรกิจส่วนตัวและได้อยู่กับครอบครัวอย่างที่ตั้งใจ โดยได้วางรากฐานไว้ให้กับลูก พาเขาเข้าไปสัมผัสกับอาชีพของพ่อแม่ ได้ลงมือดูแลหมูด้วยตัวเอง และเขาเชื่อว่านี่จะเป็นมรดกอาชีพในอนาคตของลูกๆ ได้อย่างแน่นอน
ที่มา: Charoen Pokphand Foods