นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย มีนโยบายขับเคลื่อนประเด็นนักท่องเที่ยวปลอดภัย เพื่อยกระดับงานสุขาภิบาลอาหารให้เขตสุขภาพมีจังหวัดที่มีที่พัก/ที่กิน/ที่เที่ยว และผู้ให้บริการได้มาตรฐาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนกรุงเทพมหานคร ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในมิติด้าน "เศรษฐกิจดี" คือ การยกระดับผู้ค้าแผงลอยให้มีความยั่งยืน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงิน การให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและจัดหาสถานที่ค้าขายที่ได้มาตรฐาน ซึ่งกรมอนามัยส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี ผ่านมาตรฐาน SAN & SAN Plus "สะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐาน" โดยพัฒนาจากมาตรฐาน Clean Food Good Taste เดิม เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั่วประเทศ ผู้ประกอบการ ผู้สัมผัสอาหาร จึงต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กฎกระทรวงกำหนด สถานประกอบการมีส่วนร่วมด้วยการประเมินตนเอง และผ่านการประเมินรับรองโดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หรือ กรุงเทพมหานครหากมีการปฏิบัติครบทุกขั้นตอน จึงได้ป้ายรับรองมาตรฐาน SAN & SAN Plus ซึ่งสามารถประเมินผ่านระบบ foodhandler ด้วยตนเอง
ด้าน ดร.นายแพทย์นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กล่าวว่า กรมอนามัย โดยสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ได้ขับเคลื่อนการยกระดับมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถี เพื่อสร้างความเชื่อมั่น คุ้มครองสุขภาพประชาชน และสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่ง Street Food เป็นที่นิยมอย่างมากทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างประเทศถือเป็นจุดขายและแหล่งกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย กรมอนามัย โดยสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง จึงได้จัดงานมหกรรมขับเคลื่อนนโยบาย ยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี เพื่อพัฒนาต้นแบบพื้นที่จัดบริการอาหารริมบาทวิถี ปลอดภัย สร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ สำนักงานเขตพญาไท กองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร และ ธนาคารออมสิน ซึ่งงานมหกรรม Street food good health ถนนอารีย์ได้ผ่านการตรวจประเมินสุขาภิบาลอาหาร ผ่านการประเมินใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในระดับดีมาก (SAN Plus) เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีความมั่นใจว่าได้บริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ถือเป็นกระตุ้นการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กรุงเทพมหานคร
ที่มา: กรมอนามัย